ราคาน้ำมันต่ำกว่าคาด พาณิชย์หั่นเงินเฟ้อทั้งปีนี้เหลือ 0.4-1%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อ) ทั่วไปเดือนก.ย. 2560 เท่ากับ 101.22 สูงขึ้น 0.86% เทียบก.ย. 2559 และสูงขึ้น 0.58% เทียบส.ค. 2560 นับว่าเป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 3 ตั้งแต่ ก.ค. 2560 โดยเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นเป็นผลจากหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.32% เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับขึ้นของราคาบุหรี่และสุราจากภาษีใหม่ และค่าไฟ รวมถึงก๊าซเอ็นจีวีที่ราคาสูงขึ้น

ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.06% เช่น ผักสดราคาสูงขึ้น ผลผลิตลดลงเพราะเน่าเสียหายจากฝนชุก

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. ที่สูงขึ้น เมื่อดูปัจจัยหลัก เช่น ค่าไฟ มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.092% ราคาก๊าซเอ็นจีวีมีผล 0.00096% กฎหมายภาษีสรรพสามิตตัวใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 ทำให้ราคาบุหรี่ เหล้า เบียร์ ราคาขยับขึ้น รวมมีผลต่อเงินเฟ้อ 0.027% แบ่งเป็น บุหรี่มีผล 0.028% เบียร์ 0.001% เหล้า 0.0004%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน เดือนก.ย. 2560 เท่ากับ 101.44 สูงขึ้น 0.53% เทียบก.ย. 2559 และสูงขึ้น 0.09% เทียบส.ค. 2560 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนแรกปีนี้ สูงขึ้น 0.59% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 9 เดือนแรกปีนี้ สูงขึ้น 0.54% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวอีกว่า จากการได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันทำให้ สนค. ต้องปรับตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 เป็น 0.4-1% จากเดิม 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี 3-4% เช่นเดิม ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิม 35-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนปัจจัยสวัสดิการของรัฐแก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น บัตรสวัสดิการสำหรับค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าเดินทาง เหล่านี้จะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ยอมรับว่าจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ที่จะทำให้ราคาสินค้าไม่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังประเมินว่าจะมีผลต่อเงินเฟ้ออย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ สนค. ยังได้สำรวจค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเดือนก.ย. 2560 พบว่า 1 ครัวเรือนสมาชิก 1-5 คน มีค่าใช้จ่ายรายเดือน 20,421 บาท พบว่า ค่าใช้จ่าย 63.59% จะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,882 บาท หรือ 23.91% ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 4,680 บาท หรือ 22.91% ส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 36.41% ส่วนใหญ่เป็นค่าอาหารบริโภคในบ้าน 1,779 บาท หรือ 8.71% อาหารบริโภคนอกบ้าน 1,740 บาท หรือ 8.52%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สำหรับการสำรวจสินค้า 422 รายการในเดือนก.ย. มีสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น 157 รายการ เช่น ผักสด หมู ไข่ไก่ ข้าวสารเจ้า สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 196 รายการ และสินค้าที่ราคาปรับลดลง 69 รายการ เช่น กุ้งขาว ไก่สด น้ำมันพืช ซีอิ๊ว เป็นต้น

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์