กลุ่มเพาะเห็ดแครง จ.สตูล แนะวิธีเพาะแถมเมนูน่าอร่อย “ห่อหมกเห็ดย่าง”

เห็ดแครง หรือ เห็ดตีนตุ๊กแก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Schizophyllum commune) เป็นเห็ดที่ขึ้นได้ทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลกและเจริญเติบโตได้ตลอดปี ส่วนใหญ่ขึ้นตามธรรมชาติในช่วงที่แล้งจัดจากนั้นมีฝนตกในความชื้นที่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวข่าวสด จังหวัดสตูล รายงานผลงานของกลุ่มเพาะเห็นแครงอินทรีย์ ตั้งอยู่เลขที่ 177 หมู่ที่ 3 บ้านบ่อหิน ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน มุ่งเพาะเห็ดเพื่อตอบโจทย์คนชอบกินเห็ดแครงชนิดนี้ให้กินตลอดทั้งปี

นางวิไลภรณ์ ชำนาญเพาะ อายุ 43 ปี บ้านเลขที่ 294 หมู่ที่ 3 ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล เล่าว่า หลังเสร็จภารกิจงานภายในบ้าน งานสวนปาล์ม และสวนยางพารา มาร่วมกลุ่มโครงการ รับหน้าที่ทำก้อนเชื้อเห็ดแครงตามสูตรผสมขี้เลื่อย และรำข้าวละเอียด และส่วนต่าง ๆ ที่เป็นส่วนผสม ส่วนใหญ่จะให้เวลากลางคืนหลังเสร็จภารกิจที่บ้าน ในช่วงเร่งทำก้อนเชื้อเห็ดแครง จะให้ลูก ๆ มาช่วยทำ 200 วันติดต่อกันเคยทำมากถึง 800 ลูก ทุกคนก็มีรายได้ร่วมกัน

นายสำราญ แคยิหวา สมาชิกในกลุ่มคู่ชีวิตประธานกลุ่ม วัย 38 ปี เล่าว่า ทางกลุ่มจะใช้บ้านในการทำโรงเพาะเห็ดและโรงเรือนจะใช้เหล็กเป็นโครงสร้างเพื่อป้องกันแมลงที่จะมาทำลายเห็ดได้

วิธีการดูแลเห็ดจะเน้นความชื้นและอุณหภูมิมากกว่า ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 80 โดยตั้งองศาที่ 30-40 นอกจากนี้มีวิธีควบคุมอุณหภูมิโดยใช้เครื่องพ่นหมอกทุก 1 ช.ม. จะทำงาน 10 นาที หากความชื้นไม่เหมาะสมจะมีเครื่องช่วยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับเห็ด เพราะนั่นหมายถึงเห็ดอาจจะไม่ให้ดอกเลยก็ได้

การเก็บเห็ดในแต่ละรอบต้องมีการพักล้างโรงเรือนเพื่อทำความสะอาดด้วยน้ำส้มควันไม้ เนื่องจากว่าจะมีตัวไรที่จะทำให้เห็ดเกิดโรคได้ง่าย โดยจะเน้นคุณภาพของผู้บริโภคเป็นหลัก การให้ผลผลิตที่เร็วเพียง 7 วันก็ให้ผลผลิตแล้ว เราจึงเลือกที่จะเพาะเห็ดแครง เนื่องจากสามารถต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ หากขายเห็ดสดไม่ทัน ก็สามารถตากแห้ง หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ

การเก็บดอกเห็ดแครง จะเก็บได้ 2-3 ครั้งนับจากวันที่เปิดออก 7-8 วัน ให้ตัดเชื้อออกทั้งหมด จากนั้นก็กระตุ้นดอกต่อ โดยให้น้ำที่ก้อนเห็ดทุกวันติดต่อกัน 7 วัน ดอกเห็นแครงก็จะออกมาพร้อมจะเก็บได้อีกครั้ง และจะเก็บดอกเห็ดแครงได้เหมือนเดิม แต่อาจจะมีขนาดเล็กลง คุณภาพลดลง จึงควรเก็บดอกเพียง 2 รุ่น แล้วรื้อก้อนเห็ดทิ้งเลย นำก้อนเห็ดชุดใหม่เข้าแทน โดยปริมาณดอกเห็ดต่อก้อนอยู่ที่ 1 – 1.5 ขีด

ด้าน นางสาวนิภาพร สุวรรณสถิตย์ น้องกุล อายุ 38 ปี ประธานกลุ่มเพาะเห็ดแครงอินทรีย์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำเห็ดแครง ที่ทุกคนก็จะทราบดีว่า ใน 1 ปีจะกินได้ปีละครั้ง ช่วงแล้งและมาฝนตกจะมีเห็ดขึ้นตามสวนยางพารา และส่วนตัวชอบความสวยงามของเห็ดอยู่แล้ว ทั้งเห็ดนางฟ้า และเห็ดต่างๆ จึงคิดอยู่นานในขณะนั้นว่าจะเพาะเห็ดอะไรดี

ต่อมาตัดสินใจศึกษาอย่างจริงจังในการเพาะเห็ดแครง เนื่องจากเป็นคนชอบกินเห็ดแครงอยู่แล้ว และไม่ชอบที่ทุกครั้งพบหนอนหรือแมลงบนเห็ด จึงเลือกที่จะศึกษาในการเพาะเห็ดในโรงเรือน เพื่อทานในหมู่บ้านและคนทั่วไป

ผลผลิตของเห็ดแครงนั้นทำอาหารได้หลากหลาย เช่น “ห่อหมกเห็ดแครงอินทรีย์ย่าง” การปรุงไม่มีอะไรยุ่งยาก ใช้เครื่องปรุงประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้ง เกลือ ตะไคร้ ขมิ้น กระเทียม โขลกเข้ากันจนแหลกพอสมควร ก่อนตักใส่ชามใบใหญ่จากนั้นใส่กะทิลงไป ตอกไข่ไก่ใส่ไปตามสัดส่วนของเห็ดที่จะปรุงให้เผ็ดมากน้อยตามใจชอบ

นอกจากนี้ยังมีเมนู แกงคั่วไก่ คั่วกุ้ง จากที่ศึกษาเมนูอาหาร ทำห่อหมกเห็ดแครงปลากระป๋อง หรือใส่ไข่ก็ทำได้ หรือจะใช้เป็นเมนูสุขภาพ ผัดกะเพรา ผัดฉ่า ใช้เห็ดแครงแทนเนื้อไก่ได้สบาย ส่วนห่อหมกเห็ดแครงย่างก็ทำง่ายเครื่องปรุงมีอยู่รอบบ้าน

สำหรับเกษตรกรที่เพาะเห็ดขาย มีคำแนะนำให้หมั่นพักทำความสะอาดโรงเรือนให้บ่อยครั้งป้องกันตัวไร และดูแลสุขภาพทั้งผู้เป็นเกษตรกรเองด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ตัวไรเข้าหูหรือ ตาได้ สำหรับท่านใดที่สนใจติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ศึกษาดูงานได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 099-318-2744 และ 081-609-6986