เผยแพร่ |
---|
เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 29 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 นั้น ปัจจุบันสรุปมียอดรวมประชาชนเดินทางมาสักการะพระบรมศพฯ กว่า 11 ล้านคนแล้ว เป็นที่น่าปลื้มใจ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความอาลัยรัก ความศรัทธา และความจงรักภักดีของประชาชน ทุกหมู่เหล่า ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก็ได้มุ่งมั่นเดินทางจากทุกสารทิศ เข้ามากราบถวายบังคมพระบรมศพ สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยทรงห่วงใยว่าประชาชนจะมีโอกาสกราบถวายบังคมพระบรมศพได้ไม่ทั่วถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาการกราบถวายบังคมพระบรมศพ ออกไปจนถึงเวลา 24 นาฬิกา ของคืนวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคมนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อันหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
นายกฯ กล่าวว่า พี่น้องประชาชนที่เคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงแต่ทรงสถิตในดวงใจปวงชนชาวไทยทุกคนเท่านั้น แต่ยังทรงได้รับการถวายความยกย่องสรรเสริญ ในระดับนานาอารยประเทศ อีกด้วยจากการที่ได้ทรงประกอบคุณงามความดี และดำเนินพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ในการประชุมสันติภาพนานาชาติ 2017 เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ได้มีการกำหนดหัวข้อ “การสร้างสังคมแห่งสันติภาพที่ยั่งยืน มรดกในพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก และผู้แทนถาวรประจำยูเนสโก จากประเทศต่างๆ ได้ขึ้นมากล่าวถวายราชสดุดี และแสดงความอาลัย เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 อันนำความซาบซึ้งมาสู่ปวงชนชาวไทย ทั้งประเทศ อีกวาระหนึ่ง ภายหลังจากที่ องค์การสหประชาชาติ ได้เคยจัดวาระพิเศษ ถวายแด่ พ่อหลวงของเรา สิ่งสำคัญ คือ ขณะนี้ทางองค์การยูเนสโก ได้อัญเชิญแนวปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ชาติสมาชิกได้นำไปประยุกต์ใช้ ในการกำหนดแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของประเทศตนเอง