การขึ้นลิฟต์ของคนญี่ปุ่น พิถีพิถันกว่าที่คิด!

เพราะ “ลิฟต์” เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมแคบ ๆ ทั้งคนที่รู้จักกันและไม่รู้จักกันต้องใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่นี้ แม้จะไม่ถึงนาทีก็ตาม แล้วการที่ตึกสมัยใหม่มีความสูงเสียดฟ้ากันทั้งนั้น เราจึงมีโอกาสใช้ลิฟต์กันบ่อยมากขึ้น ยิ่งในทางธุรกิจ การใช้ลิฟต์อาจจะมีอยู่หลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นลงลิฟต์พร้อม ๆ กันกับผู้ใหญ่ หรือการออกไปต้อนรับลูกค้าด้วยลิฟต์ เป็นต้น แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการขึ้นลิฟต์ของคนญี่ปุ่นนั้นพิถีพิถันกว่าที่คุณคิด เพราะนอกจากมีการเรียงลำดับการเข้า-ออกลิฟต์แล้ว ยังละเอียดไปถึงตำแหน่งที่คุณควรยืนบนลิฟต์อีก วันนี้ผมจะมาแบ่งปันความพิถีพิถันในการใช้ลิฟต์ของคนญี่ปุ่นกันครับ
-ระหว่างรอลิฟต์
หลีกเลี่ยงการยืนรอลิฟต์ตรงบริเวณหน้าประตูลิฟต์ครับ เพราะจะกีดขวางคนในลิฟต์ให้เดินออกมาลำบากขึ้น
-เข้าลิฟต์ : กรณีเราเป็นผู้อาวุโสน้อยที่สุด
อันดับแรก คุณห้ามขึ้นลิฟต์ก่อนลูกค้าหรือคนที่อาวุโสกว่าครับ แต่คุณต้องเอื้อมมือไปดันประตูลิฟต์แสดงให้เห็นว่าเราพยายามไม่ให้มันปิด หรือกดปุ่มลิฟต์ที่อยู่หน้าลิฟต์ พร้อมกับหันมายิ้มแล้วบอกว่า “เชิญครับ/เชิญค่ะ” เมื่อทุกคนขึ้นลิฟต์เสร็จแล้ว เราค่อยเดินตามเข้าไปในลิฟต์ แล้วประจำอยู่ที่แผงกดปุ่มเปิด-ปิดในลิฟต์ โดยที่ต้องยืนเอียงนิด ๆ ไม่หันหลังให้ผู้อาวุโสกว่า เพราะถือว่าเป็นการเสียมารยาท ในกรณีที่มากันหลายคน เราต้องรีบเข้าไปในเลิฟต์ก่อนเพื่อกดปุ่มเปิดลิฟต์ค้างไว้ให้ทุกคน
– ออกจากลิฟต์
กรณีออกจากลิฟต์ ต้องให้ลูกค้าหรือผู้อาวุโสกว่าออกก่อนเท่านั้น โดยที่เรามีหน้าที่ดันประตูไม่ให้มันปิด หรือกดปุ่มเปิดประตูเอาไว้ รอจนกว่าลูกค้าจะออกจากลิฟต์ทั้งหมดเราถึงเดินตามออกไป ลำดับความสำคัญตามนี้ครับ ลูกค้า > ผู้อาวุโสกว่า > เรา
นอกเหนือกฎในทางธุรกิจ เราจะเรียงลำดับความสำคัญของกลุ่มบุคคลจากมากไปหาน้อยตามนี้ครับ คนชรา เด็ก คนที่มากับเด็กเล็ก และสุภาพสตรี
– ตำแหน่งการยืนที่เหมาะสม
บริเวณที่ใกล้แผงวงจรกดเปิด-ปิดประตู คือ “จุดยืนสำหรับผู้ที่อาวุโสน้อยที่สุด” ยิ่งลึกเข้าไปในลิฟต์เท่าไหร่ ถือว่าเป็นที่สำหรับที่สำหรับผู้ที่อาวุโสกว่า แต่ถ้าเปิดลิฟต์เข้าไปมีคนยืนมากมายอยู่แล้ว ผู้ที่อาวุโสน้อยที่สุดก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าหรือผู้อาวุโสกว่าให้ได้ยืนข้างในครับ ในกรณีที่เรายืนอยู่ที่หน้าวงจรเปิด-ปิดลิฟต์อยู่แล้ว แล้วมีคนเดินเข้ามาใหม่ ควรมีน้ำใจด้วยการเอ่ยปากถามเขาว่า “จะไปชั้นไหนดีครับ”
ข้อควรระมัดระวังอื่น ๆ คือ
1) ขณะที่เลิฟต์บางทีเราก็ไม่ทราบว่าใครเป็นใคร อาจจะเป็นลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยม หรือคนในแผนกอื่น ๆ บางทีการคุยกันในลิฟต์อาจทำให้ข้อมูลบางอย่างรั่วไหลได้ ดังนั้น ขณะขึ้น-ลงลิฟต์ควรที่จะหยุดการสนทนา ไม่หัวเราะคิกคักล้อเล่นกันในลิฟต์
2) ไม่ทานอาหารในลิฟต์ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าลูกค้าข้างนอกเข้ามาในลิฟ์เหมือนกัน และกลิ่นอาหารอาจหลงเหลืออยู่ในลิฟต์ได้
3) ไม่แต่งหน้าในลิฟต์
4) ไม่อ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารในลิฟต์