“เฉาก๊วยชากังราว” ขึ้นแท่น SMEs 4.0 สยายปีกสู่อาเซียน

เป็นความคุ้นเคยของนักท่องเที่ยวที่เมื่อแวะเข้าปั๊มน้ำมันกิจกรรมหนึ่งคือ ช็อปปิ้ง หนึ่งในสินค้าที่เรียกลูกค้าเสียงใสคือ “เฉาก๊วยชากังราว”

“ชากังราว” เป็นชื่อเดิมของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นจุดกำเนิด เป็นฐานที่มั่นของสินค้าแก้ร้อนในที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะในฤดูการท่องเที่ยว

ปัญหาหนึ่ง คือการขนส่งและการเสียโอกาสในการขายช่วงเทศกาล ซึ่งรถขนส่งจะไม่รับจ้างในกิจกรรมขนส่งสินค้า เพราะต้องการขนส่งมวลชนมากกว่า ทำให้ในปี พ.ศ. 2557 ผู้บริหารจึงตัดสินใจในการเพิ่มกำลังการผลิตทางภาคใต้ โดยเลือกจังหวัดสงขลาเป็นแหล่งผลิตและจัดจำหน่ายในกลุ่มลูกค้าทางภาคใต้

คุณวีรพัฒน์ ปรางค์ศรีทอง ผู้จัดการ บริษัท เฉาก๊วยสงขลาชากังราว จำกัด กล่าวถึงที่มาของการมีขึ้นของ บริษัท เฉาก๊วยสงขลาชากังราว จำกัด

จากแผนการดำเนินการทางธุรกิจผู้บริหารจึงมองโอกาสในอนาคตว่า “เฉาก๊วยชากังราว” จะทำการรุกตลาดกัมพูชา ลาว มาเลเซีย คาดการณ์รายได้เพิ่มขึ้นปีละ 100 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายในประเทศอยู่ที่ 210 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าลงทุนใหม่ด้วยเงินลงทุน 140 ล้านบาท ในการปรับปรุงโรงงานแม่ สร้างโรงงานใหม่ที่หาดใหญ่เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตและลดต้นทุนขนส่ง

ขณะนี้ บริษัทแม่ที่จังหวัดกำแพงเพชร เริ่มส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาวแล้ว ส่วนประเทศมาเลเซียอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจ โดยวางรากฐานของโรงงานที่หาดใหญ่ เพื่อวางแผนการจัดจำหน่ายและการขนส่งสินค้า ซึ่งมั่นใจว่าสินค้าจะติดตลาดภายใน 1-2 ปี ในปี 2560 บริษัทเข้าร่วม “โครงการโอ-ปอย” โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI (โอ-ปอย)

เริ่มจาก “การปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน” ซึ่งหลังจากผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติแล้ว ได้รับคำแนะนำให้ปรับตั้งค่าน้ำหนักเนื้อเฉาก๊วยและน้ำเชื่อมในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้สามารถบรรจุผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 200 ถุง ต่อวัน ลดต้นทุนได้ 378,000 บาท ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 14 รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผนึกถุง ลดความสูญเสียได้อีก รวมแล้วทั้ง 2 กิจกรรมนี้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับสถานประกอบการอีก 505,800 บาท ต่อปี

อีกแผนงานคือ “การลดต้นทุนพลังงาน” โดยจัดทำโครงการลดพลังงานไฟฟ้าของเครื่องทำน้ำเย็น ตั้งค่าอุณหภูมิน้ำให้สูงขึ้นจาก 10 องศาเซลเซียส เป็น 15 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงจะได้อุณหภูมิน้ำเชื่อมที่ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งทันต่อการสั่งซื้อในแต่ละวันเฉลี่ย 15,000 ถุง ต่อวัน ทําให้ลดพลังงานของ Chiller ลดเวลาการทำงานของ Boiller สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้สถานประกอบการได้ 228,496.05 บาท ต่อปี

สำหรับแนวโน้มของการตลาดเฉาก๊วยนั้น วีรพัฒน์ บอกว่า มีการเติบโตต่อเนื่อง เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและสภาพแวดล้อมในภูมิภาคที่มีการปรับตัวสูงขึ้นของอุณหภูมิ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดการบริโภคเครื่องดื่มน้ำดื่ม คาดว่าผลิตภัณฑ์เฉาก๊วยในยี่ห้อชากังราวจะมีสัดส่วนประมาณ 30% ของตลาดรวมทั้งหมดในประเทศ แต่จากการเปิดเสรีการค้าและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้การขยายกิจการเพื่อไปทำตลาดกับกลุ่มลูกค้า เช่น ลาว กัมพูชา หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซียจึงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยขายผ่านตัวแทนและผู้จัดจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ที่เข้าถึงผู้ขายและผู้บริโภคโดยตรง

แม้ว่าในส่วนของวัตถุดิบสำคัญคือต้นเฉาก๊วยต้องนำเข้ามาจากเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และจีน ปีละ 100 ตัน ราคาตันละ 1 แสนบาท (ข้อมูลจากกลุ่มบริษัททั้งหมด) แต่กระบวนการบริหารวัตถุดิบหรือ Supply chain จะมีการวางแผนระยะยาวกับผู้ขายรายหลักและรายย่อยเพื่อลดความเสี่ยงในการวางแผนการผลิตโดยได้ทำสัญญากับผู้ขายไว้อย่างชัดเจน

ด้าน คุณสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประโยชน์ที่ทางสถานประกอบการได้รับโดยตรงที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือได้รับรู้ถึงข้อบกพร่องของสถานประกอบการเองว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การบริหารงาน และอื่นๆ ที่บางครั้งสถานประกอบการเองอาจจะมองไม่เห็นข้อบกพร่องนั้นๆ นอกจากนี้ยังได้รับการพัฒนาและแก้ไขจุดบกพร่องนั้นเป็นการเฉพาะจุดจริงๆ

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน