อุตฯ กล้วยไม้ ตลาดยุโรป-อเมริกา ออร์เดอร์ลด หันซบเอเชีย เศรษฐกิจ-แมลง-แรงงานกระทบหนัก!

ธุรกิจกล้วยไม้ไทยยังทรงตัว คาดรายได้รวมอยู่ที่ 6-7 พันล้าน ภาวะเศรษฐกิจโลกกระทบหนัก ตลาดยุโรป-อเมริกา ออร์เดอร์ลด ผู้ประกอบการหันซบตลาดจีน ซ้ำร้ายประสบปัญหาโรคแมลง-ขาดแคลนแรงงาน วอนรัฐหนุนเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเจาะตลาดใหม่

นายสมเกียรติ ดุสฎีกาญจน นายกสมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันแหล่งปลูกกล้วยไม้ของไทยอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด (กล้วยไม้หวายตัดดอก) ประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งปี 2560 พื้นที่ปลูกลดลงเล็กน้อย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ขณะนี้มีผู้ประกอบการและเกษตรกรที่จดทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคม 500-600 ราย

สำหรับอุตสาหกรรมกล้วยไม้ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ในปี 2559 ซึ่งยังไม่นับรวมการซื้อขายที่โอนเงินโดยไม่ได้ผ่านระบบธนาคาร โดยกล้วยไม้จะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี

ปัจจุบันตลาดในประเทศมีสัดส่วนประมาณ 30% ส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายตามตลาดค้าส่ง เช่น ปากคลองตลาด ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดนัดที่มีผู้ค้ารายย่อยมารับซื้อไปจำหน่ายเป็นกำเตย (ดอกไม้สำหรับไหว้พระ) ขณะที่อีก 70% ส่งออกต่างประเทศ ตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา แต่ในช่วง 10 ปีหลังนี้ การส่งออกไปยุโรป อเมริกาลดน้อยลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และมาตรการกีดกันในเรื่องของโรคแมลง โดยเฉพาะแมลงบั่วและเพลี้ยไฟ จึงต้องหันมาเจาะตลาดเอเชียเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ประสบปัญหาด้านแรงงาน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาไม่มีทักษะ จึงเริ่มทำงานในภาคเกษตรก่อน หลังจากนั้นเมื่อมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งภาษา ทักษะการทำงาน และได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ก็จะย้ายไปภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โรงงาน รวมถึงปัญหาปัจจัยการผลิต ทั้งสารเคมี ปุ๋ย ที่มีราคาค่อนข้างสูง หรือบางชนิดไม่ได้คุณภาพตามฉลาก

“ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ทำกำไรได้ค่อนข้างยาก ใครที่สายป่านไม่ยาวก็จะลำบาก อีกทั้งเมื่อความเจริญขยายตัวเข้ามาเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีมลพิษเพิ่มขึ้น น้ำเสีย อากาศไม่ดี ก็ส่งผลต่อกล้วยไม้เช่นกัน และเมื่อราคาที่ดินสูงขึ้น ผู้ประกอบการอาจจะขายที่ดิน แล้วไปซื้อที่ในชุมชนที่เป็นชนบทเพิ่มขึ้นได้ เช่น ในโซนอำเภอบางเลน กำแพงแสน จ.นครปฐม”

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในอนาคตผู้ประกอบการต้องมารวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และแก้ปัญหาร่วมกัน และอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในการหาตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐต่อรัฐ และมีโครงการเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ

ด้าน นายวิทยา ยุกแผน อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกปี 2558 อยู่ที่เกือบ 2,800 ล้านบาท ส่วนปี 2559 อยู่ระดับใกล้เคียงกัน ขณะที่ปี 2560 คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ปัจจุบันมีผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกของสมาคมประมาณ 30 ราย

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ส่งออกหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าร่วมกับสมาคม รวมทั้งหมดประมาณ 100 ราย ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะส่งออกไปตลาดจีน ตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งจะไม่เน้นคุณภาพมากนัก

ทั้งนี้ไทยยังเป็นเจ้าตลาดกล้วยไม้เมืองร้อนและเป็นเบอร์ 1 ของโลก กล้วยไม้ที่ส่งออกมากที่สุด คือ กล้วยไม้เดนโดรเบียม มอกคารา และแวนด้า โดยจะส่งออกทางเครื่องบินเกือบ 100% ซึ่งจะออร์เดอร์ล่วงหน้ากันเพียง 1 สัปดาห์ หรือมากที่สุด 2-3 สัปดาห์เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องคาดการณ์ตลาดเอง ซึ่งตลาดส่งออกหลักยังคงเป็นญี่ปุ่น 30% อิตาลี 10% และตลาดอื่นๆ อีก 60% โดยที่ผ่านมาอันดับ 3 เป็นอเมริกา แต่ในช่วง 4-5 ปีนี้ตลาดจีนแซงขึ้นมา ซึ่งมีราคาเป็น 1 ใน 3 ของตลาดยุโรปเท่านั้น

ขณะที่ผู้ประกอบการประสบปัญหาเรื่องโรคแมลงรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งดีมานด์และซัพพลายไม่ตรงกัน โดยช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน สามารถผลิตได้มาก แต่เป็นช่วงที่ตลาดต้องการน้อย