กระทรวงแรงงาน ลุยปั้นช่างก่อสร้างมืออาชีพควบคู่โลจิสติกส์ ทะลุเป้า 2 หมื่นคน

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่ง มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ช่องทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน หรือที่พักอาศัย ต่างส่งผลให้สาขาอาชีพด้านโลจิสติกส์และก่อสร้าง เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในปีนี้ (2560) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ขับเคลื่อน “โครงการ ฝึกอบรมฝีมือแรงงานรองรับระบบขนส่งด้านโลจิสติกส์ และก่อสร้าง” ในการผลิตแรงงานฝีมือตอบสนองความต้องการดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย 8 วาระปฏิรูป กระทรวงแรงงาน ในการ“เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0” และ “มิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำ” ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมกับหน่วยงานในสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ จำนวน 20,535 คน จากเป้าหมาย 17,840 คน

หลักสูตรที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เช่น หลักสูตรผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 หลักสูตรพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยก หลักสูตรการขับรถฟอร์คลิฟท์อย่างปลอดภัยและถูกวิธี หลักสูตรการจัดการสินค้าคงคลังและคลังสินค้า หลักสูตรช่างเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลักสูตรช่างก่ออิฐฉาบปูน หลักสูตรช่างสีอาคาร เป็นต้น

นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้มอบวุฒิบัตรให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรอาชีพเสริมสาขาการก่ออิฐ-ฉาบปูนและสาขาการปูกระเบื้อง จำนวน 40 คน (ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง) ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยเน้นโครงสร้างพื้นฐาน จากการพูดคุยกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมบอกกล่าวตรงกันว่ามีประโยชน์อย่างมาก มีฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ได้รับความรู้หลายด้าน อาทิ ความปลอดภัยในการทำงาน การเลือกวัสดุ การใช้และบำรุงรักษาเครื่องมืองานก่ออิฐฉาบปูน/ปูกระเบื้อง ฝึกก่ออิฐฉาบปูน/ปูกระเบื้องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องสวยงาม เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้จะนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมสาขาการก่ออิฐฉาบปูน เตรียมเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานชาติเพื่อรับรองความรู้ ความสามารถพร้อมใช้เป็นหลักฐานในการขอรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือด้วย อาทิ สาขาช่างก่ออิฐ มีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 345 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 465 บาท และระดับ 3 ไม่ตำกว่าวันละ 585 บาท

นายสมศักดิ์ สุขวัฑฒโก ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กล่าวว่า ในปี 60 ได้ดำเนินการฝึกอบรมให้กับแรงงานด้านโลจิสติกส์และก่อสร้างแล้วจำนวน 320 คน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้ระบบขนส่งและก่อสร้างของจังหวัด มีความเข้มแข็งและเป็นประโยชน์กับประชาชนและสถานประกอบกิจการเป็นอย่างมาก โดยเน้นการฝึกที่สร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชน ซึ่งในครั้งนี้ฝึกในสาขา ก่ออิฐ-ฉาบปูน และสาขาปูกระเบื้อง จึงใช้สถานที่ฝึก ณ วัดปัวแหลม บ้านปัว อ.เชียงคำ จ.พะเยา นอกจากนี้ สนพ.พะเยา ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนฝึกอบรมแรงงานพื้นที่ในสาขาอื่นๆ ด้วย รวมกว่า 3,000 คน

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์