ผ่ากลยุทธ์ “โกลเด้น ทิวลิป” บริหารโรงแรมยุคนี้ต้อง “คิดต่าง”

ต้องยอมรับว่า แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ หันมาสนใจลงทุนในธุรกิจโรงแรมกันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งผู้ลงทุนรายเดิมในตลาดและนักลงทุนหน้าใหม่ที่มองเห็นโอกาสของการลงทุน

ขณะเดียวกัน ด้วยจำนวนโรงแรมและห้องพักที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมทวีความรุนแรงขึ้นด้วยเช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ลือศักดิ์ พันธุ์อุทัย” รองผู้จัดการทั่วไป โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพ ในฐานะผู้ประกอบการคนไทยที่บริหารโรงแรมแห่งนี้ให้ยืนหยัดและรับมือกับการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวค่อนข้างสูง ทั้งการลงทุนใหม่ การซื้อขาย ควบรวมกิจการ เลิกกิจการ มาได้จนถึงทุกวันนี้

รับธุรกิจโรงแรมแข่งขันสูงลิบ

“ลือศักดิ์” บอกว่า แม้ว่าแนวโน้มตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ส่วนตัวมองว่าภาพรวมของธุรกิจโรงแรมในขณะนี้ยังไม่ดีนัก และการแข่งขันก็สูงขึ้นทุกวัน จำนวนห้องพักในกรุงเทพฯ รวมกันมีมากกว่า 100,000 ห้อง ไม่ใช่แค่ 50,000 ห้องเหมือนเมื่อหลายปีก่อน

ขณะที่นักท่องเที่ยวในตลาดยุโรปก็เดินทางเข้ามาประเทศไทยในปริมาณที่ลดน้อยลง เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ค่อยดีนัก เมื่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ดี ก็ต้องยอมรับว่าต่อให้โรงแรมจะลดราคามากแค่ไหนก็ไม่ได้ผล หากโรงแรมนั้น ไม่ได้อยู่ในทำเลที่อยู่กลางเมือง หรือที่เรียกว่า “ไพรม์แอเรีย” อย่างเส้นสุขุมวิท สีลม สาทร

บริหารโรงแรมต้อง “คิดต่าง”

ต่อคำถามว่า แล้ว “โกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพ” ซึ่งเป็นโรงแรมที่ไม่ได้อยู่ในไพรม์โลเกชั่นปรับตัวอย่างไรถึงรับมือกับการแข่งขันที่มันรุนแรงเช่นนี้ได้ “ลือศักดิ์” บอกว่า ทำธุรกิจโรงแรมสมัยนี้ต้องคิดต่าง และต้องคิดต่างในทุกๆ มุม เพราะทุกวันนี้มีโรงแรมเกิดใหม่เกิดขึ้นแทบทุกเดือน และเกิดขึ้นในทุกตรอก ซอก ซอย บางรายก็ปรับตัวเองจากอพาร์ตเมนต์ หรือเรสซิเดนซ์ มาทำโรงแรม แล้วใช้ราคาเป็นตัวแข่งขัน

ขณะเดียวกัน ยังมีห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ เกิดขึ้น นักท่องเที่ยวอยากกินอะไรมีหมด บรรดาห้างต่างๆ ก็มีส่วนในการดึงลูกค้าโรงแรมไปใช้บริการในส่วนของอาหารและเครื่องดื่ม ฉะนั้น หากเรายังคิดเหมือนเดิมและทำการตลาดเหมือนเดิม บอกได้เลยว่ารอวันเจ๊งอย่างเดียว ไปไม่รอดแน่นอน

สำหรับโรงแรมโกลเด้น ทิวลิปฯ นั้น “ลือศักดิ์” บอกว่า เนื่องจากโรงแรมอยู่ในโลเกชั่นค่อนข้างถือว่าไกลจากในเมือง เส้นทางรถไฟฟ้า จึงต้องทำการตลาดอย่างหนัก ถ้าจะรอให้ลูกค้าเดินมาหาเขามองว่าโรงแรมเจ๊งก่อนแน่นอน

มุ่งสร้างรายได้จากข้างนอก

“ลือศักดิ์” บอกว่า ก่อนหน้านี้โรงแรมโกลเด้น ทิวลิปฯ ได้รุกทำตลาดกับลูกเรือสายการบินต่างๆ ต่อเนื่องมาหลายปี ปัจจุบันโรงแรมมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มลูกเรือของสายการบินต่างๆ อยู่กว่า 10 สายการบิน อาทิ กาตาร์ แอร์เวย์ส, เอทิฮัด, สายการบินมาฮานแอร์ (สายการบินเอกชนของอิหร่าน), เวียดนาม แอร์ไลน์, อุซเบกิสถาน แอร์ไลน์, เอสเซเว่น แอร์ไลน์ (ไซบีเรีย) เวียดเจ็ท แอร์ไลน์ ฯลฯ

ปัจจุบันโรงแรมแห่งนี้มีลูกค้าส่วนที่เป็นลูกเรือของสายการบินต่างๆ ทำสัญญาเข้าพักไปแล้วประมาณ 200 ห้องต่อคืน หรือประมาณ 40% ของจำนวนห้องทั้งหมด เรียกว่า ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าโรงแรมโกลเด้น ทิวลิปฯ ตั้งอยู่ในโลเกชั่นที่ใกล้และสะดวกในการเดินทางสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ดังนั้น สิ่งที่ทีมบริหารคิดและใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์หลักในการสร้างรายได้ให้โรงแรมในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมากระทั่งถึงปัจจุบันคือ การมุ่งสร้างธุรกิจใหม่และหารายได้จากข้างนอกโรงแรมเข้ามาเสริม โดยใช้ฐานธุรกิจ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่มีอยู่เป็นส่วนสนับสนุน

ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมมีบุคลากรในแผนกช่างที่ดูแลงานด้านซ่อมบำรุงที่มีประสบการณ์ทั้งหมดอยู่ราว 30 คน เราก็เอาความเชี่ยวชาญตรงนี้ไปขายให้กับสายการบินต่างๆ ที่มีออฟฟิศและมีเลานจ์ให้บริการที่สนามบิน

เช่นเดียวกับทีมซักรีด ทางโรงแรมก็มีบุคลากรอยู่แล้ว เราก็ไปนำเสนอรับซักรีดให้กับสายการบินต่างๆ หรือเรื่องของอาหาร โรงแรมก็มีครัว ที่มีเชฟและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและได้มาตรฐานอยู่แล้ว เราก็นำจุดแข็งพวกนี้ไปนำเสนอขายให้กับสายการบินต่างๆ ด้วยเช่นกัน

โดยที่ผ่านมาก็มีสายการบินจำนวน 4 แห่ง ทำสัญญาใช้บริการทีมช่างของโรงแรมให้เข้าไปดูแลแล้ว ได้แก่ สายการบินแอร์ฟรานซ์, สายการบิน KLM, โอมาน แอร์ไลน์ และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอโครงการให้กับทางกาตาร์ แอร์ไลน์ อีก 1 สายการบินด้วย

เร่งรีโนเวต-คาดเสร็จปีหน้า

สำหรับในส่วนของโรงแรมนั้น “ลือศักดิ์” บอกว่า หลังจากที่โรงแรมแห่งนี้หมดสัญญาการบริหารกับแบรนด์ “เรดิสัน” ไปเมื่อปลายปี 2553 และได้ซื้อแฟรนไชส์ของเครือ “ลุฟวร์” เชนโรงแรมยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส ตั้งแต่ต้นปี 2554 ทางทีมบริหารได้ทยอยรีโนเวตโรงแรมแห่งนี้ใหม่มาอย่างต่อเนื่อง

โดยวางงบประมาณการปรับโฉมใหม่ของโรงแรมไว้ที่ประมาณ 45 ล้านบาท (ตั้งแต่ปี 2558) เพื่อให้โรงแรมมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น และมีศักยภาพในการรองรับการเติบโตและการขยายตัวของภาคธุรกิจในย่านพระราม 9 ที่กำลังก้าวสู่ศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

ขณะนี้รีโนเวตห้องพักเสร็จไปแล้วประมาณ 70% จากจำนวนห้องพักทั้งหมด 448 ห้อง ซึ่งก็พบว่าได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าดีขึ้น รวมถึงห้องประชุม สัมมนา สำหรับในส่วนของห้องอาหารนั้น ขณะนี้ได้ปรับปรุงห้องไวน์เลานจ์ ซึ่งเป็นเลานจ์สำหรับรองรับกลุ่มเจรจาธุรกิจ 8-10 คน เสร็จเรียบร้อยแล้ว

และมีแผนจะเปิดให้บริการห้องอาหารญี่ปุ่นนิชิกิ (Nishiki) เร็วๆ นี้ หลังจากที่ปิดปรับปรุงมา 3 เดือน จากนั้นก็จะเริ่มปรับปรุงภัตตาคารอาหารจีนฟุกหยวน (Fook Yuan) คอฟฟี่ช็อปและล็อบบี้ ซึ่งคาดว่าทุกคนจะเห็นภาพลักษณ์ใหม่ของ “โกลเด้น ทิวลิปฯ” ได้ชัดเจนทั้งหมดภายในปี 2561 นี้

ทั้งหมดนี้คือ ยุทธศาสตร์การบริหารที่ทำให้โรงแรม “โกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพ” โรงแรมของคนไทยที่เปิดให้บริการมาแล้วมากกว่า 20 ปี สามารถก้าวเดินมาถึงทุกวันนี้ได้ อีกทั้งยังมีศักยภาพในการสร้างการเติบโตด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปีอีกด้วย

 

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์