หนี้ครัวเรือนพุ่งปรี๊ดสูงสุดรอบ9ปี สวนทางนอกระบบลดฮวบต่ำสุดรอบ 8 ปี

หอการค้าเปิดผลสำรวจพบหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นกว่า 20% สูงสุดรอบ 9 ปี ชี้ไม่น่าห่วงเหตุมีทรัพย์สินหนุนหลัง สวนทางหนี้นอกระบบที่ลดลงเหลือ 37% ต่ำสุดรอบ 8 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2559 สำรวจวันที่ 1-12 กันยายน 2559 จำนวน 1,221 ตัวอย่างว่า ครัวเรือนไทยที่เป็นหนี้มีอยู่ 85.7% ไม่มีหนี้ 14.3% โดยมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 298,005 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 20.2% จากปี 2558 แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 62.3% และหนี้นอกระบบ 37.7% ก้อนหนี้ที่มีอยู่นั้นเป็นหนี้เก่าและใหม่ 59.3% หนี้เก่าทั้งหมด 27.9% และหนี้ใหม่ทั้งหมด 12.8% สาเหตุที่หนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้วเพราะมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น เช่น บ้าน รถ ผ่อนสินค้ามากเกินไป ค่าครองชีพสูงขึ้น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก และค่าเล่าเรียนบุตร-หลาน รายได้ลดลง เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้จากภัยธรรมชาติ ขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน และพนันบอล

“ยอดหนี้ครัวเรือนเกือบ 300,000 บาทต่อครัวเรือน อัตราการเพิ่มของหนี้ที่ 20.2% และสัดส่วนคนมีหนี้ที่ 85.7% ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 9 ปีที่สำรวจมานับตั้งแต่ปี 2551 เพราะปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี ส่วนใหญ่ก่อหนี้มาเสริมสภาพคล่องในธุรกิจและซื้อหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัดส่วนหนี้ของครัวเรือนไทยสูงจนอยู่ที่ 83-84% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่าไม่น่ากังวล เพราะเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์หนุนหลัง ขณะที่สัดส่วนหนี้นอกระบบอยู่ที่ 37.7% นั้นลดต่ำสุดในรอบ 8 ปี จากปี 2552 ที่อยู่ที่ 42.6% ผลจากมาตรการรัฐแก้หนี้นอกระบบในช่วงที่ผ่านมา” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปีนี้ครัวเรือนต้องผ่อนชำระหนี้รวม 14,889 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.10% จากปีที่แล้ว ถือว่าความสามารถชำระหนี้ดีขึ้น ขณะที่สัดส่วนผู้เคยมีปัญหาชำระหนี้ลดลงจาก 87.8% อยู่ที่ 74.8% โดยประชาชนระบุว่าภายใน 1 ปีนับจากนี้ไม่ต้องการกู้เงินเพิ่ม 57.7% ส่วนยังมีความต้องการกู้เพิ่มอยู่ที่ 42.3% ซึ่งแบ่งเป็นต้องการจะกู้จากในระบบ 95.5% และกู้นอกระบบ 4.5% สะท้อนว่าประชาชนตั้งใจไม่ก่อหนี้เพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนในปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มตัวอย่างจ่ายเพิ่มขึ้น 46.5% ใช้จ่ายน้อยลง 35.2% และใช้จ่ายเท่าเดิม 18.3% เหตุที่มีการใช้จ่ายมากขึ้นเพราะมีรายได้สูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น ราคาของถูกลง และมีภาระหนี้สินน้อยลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างยังต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาความยากจนให้เกิดความยั่งยืน จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำและลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้ให้ประชาชน ส่งเสริมและอบรมการสร้างรายได้หลักและอาชีพเสริมให้ประชาชน แก้ปัญหาค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง ควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นธรรม และเพิ่มสวัสดิการให้กับคนชราและผู้พิการ