อุตฯแปรรูปประมงโอด ปัจจัยลบรุมเร้า นำเข้าวัตถุดิบดันต้นทุนพุ่ง “กันตังกรุ๊ป” ขึ้นราคา10%

อุตฯประมงและแปรรูปขาลง รายได้ภาพรวมลดลงกว่า 30% หลังเจอปัจจัยลบกระหน่ำรอบด้าน วัตถุดิบขาดแคลน ผลพวงนโยบายคุมเข้มการทำประมง IUU-เวียดนามแย่งตลาด เบนเข็มนำเข้าสัตว์ทะเลจากต่างประเทศ ด้าน “เครือกันตังกรุ๊ป” สุดอั้นต้นทุนกระฉูดขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ 5-10% ย้ำยังเดินหน้าพัฒนาคุณภาพ ทำตลาดทุกรูปแบบ มั่นใจสิ้นปียังฟันยอดขายไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท

นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรอแยล ฟรอเซนฟู๊ด จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมการประมงและแปรรูปตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง รายได้โดยรวมลดลงกว่า 30% ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปริมาณวัตถุดิบลดลง หรือขาดแคลนในบางประเภทจากผลกระทบการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU)

ส่วนวัตถุดิบที่ขาดแคลนและมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน คือ ปลาหมึก และปลาทะเลบางชนิด ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันไปนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแทน เพื่อที่จะส่งให้ทันออร์เดอร์ในช่วงปลายปี

นายสุบรรณ เศรษฐวรพันธุ์ ประธานกรรมการ เครือกันตังกรุ๊ป ผู้ผลิตปลากระป๋องตราบิ๊กแคน ตราทองคำ และอาหารทะเลแช่แข็ง และซูริมิรายใหญ่ในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งโดยภาพรวมถือว่ายังอยู่ในช่วงชะลอตัว แม้ว่าความต้องการของตลาดยังถือว่าดี แต่เนื่องจากประสบปัญหาปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งผลกระทบนโยบายคุมเข้มการทำประมงของรัฐบาลจากมาตรการไอยูยู (IUU) ทำให้วัตถุดิบขาดแคลน รวมถึงการเข้ามาแย่งตลาดของประเทศเวียดนาม ที่ได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าแรงที่ถูกกว่า จึงสามารถตั้งราคาได้ถูกกว่าประเทศไทย ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการเวียดนามมากขึ้น

จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ผลิตภัณฑ์ทาโร่ เคยซื้อวัตถุดิบจากทางบริษัทเดือนละกว่า 7 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่หลังจากเวียดนามเข้ามาตีตลาดทำให้มียอดขายเพียง 1-2 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือนเท่านั้น นอกจากจะส่งวัตถุดิบให้กับทาโร่แล้ว ยังส่งให้กับผลิตภัณฑ์หลายแบรนด์ อาทิ เบนโตะ ฟิชโช่ ลัคกี้ ทวีวงศ์ เป็นต้น ซึ่งทางบริษัทก็พยายามรักษาตลาดภายในประเทศไว้ได้ในระดับหนึ่ง โดยพยายามรักษาคุณภาพของวัตถุดิบ ซึ่งทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจคุณภาพสินค้าของเรามากกว่าจากประเทศเวียดนาม

นายสุบรรณกล่าวว่า บริษัทได้แก้ไขปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบโดยการสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งวัตถุดิบก็มีการปรับราคาขึ้นประมาณ 20-30% ทำให้ต้องปรับราคาสินค้าขึ้นเล็กน้อยประมาณ 5-10% หากปรับขึ้นมากก็จะส่งผลกระทบต่อยอดขาย เพราะลูกค้าจะหันไปซื้อจากเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญแทน

อย่างไรก็ตาม ได้พยายามทำตลาดในทุกรูปแบบ เพื่อรักษาผลประกอบการให้อยู่ในระดับที่ทรงตัวหรือขยับขึ้นบ้างทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ เช่น ปลากระป๋อง ก็ได้นำหมึกแดงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพและรสชาติความอร่อย

นอกจากนี้ยังมีการเปิดตลาดใหม่ ๆ เช่น ประเทศเมียนมา ขณะนี้มีการเจรจากับตัวแทนจำหน่ายแล้ว คาดว่าจะสามารถนำปลากระป๋องออกไปเปิดตลาดได้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้ตั้งเป้าผลผลิตรวมปีนี้ไว้ที่ 7,500 ตัน ยอดขายกว่า 1,400 ล้านบาท แม้ว่าช่วงครึ่งปีนี้จะทำยอดได้ประมาณ 40% แต่ก็มั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะทำยอดขายได้ตามเป้าอย่างแน่นอน เพราะตลาดญี่ปุ่นจะมีออร์เดอร์เข้ามามากในช่วงปลายปี

สำหรับกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง และซูริมิ จะส่งออกไปขายประเทศญี่ปุ่นเกือบ 100% ขณะที่ปลากระป๋องที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 2553 เน้นทำตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย อียิปต์ กานา และโรมาเนีย และยังหันมาทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว มาเลเซีย รวมถึงตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการรับรองเครื่องหมายฮาลาลจากประเทศมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว ทำให้ได้รับความมั่นใจจากพี่น้องชาวมุสลิมมากขึ้น และสามารถทำตลาดเข้าไปในประเทศมาเลเซียได้ด้วย จึงทำให้ยอดขายปลากระป๋องเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 5 ล้านกระป๋องต่อเดือน มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาทในปี 2559 ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 80 ล้านบาท

ในส่วนของซูริมิ (เนื้อปลาบด) ก็หันมาทำตลาดภายในประเทศควบคู่กับการส่งออกไปญี่ปุ่น โดยมีกำลังการผลิตราว 1 หมื่นตันต่อปี สำหรับผลประกอบการในปีที่ผ่านมา เครือกันตังกรุ๊ปมียอดขายรวมประมาณ 1,400 ล้านบาท

ปริมาณลดลง – สัตว์ทะเล ทั้งปลา กุ้ง หอย และปลาหมึก มีปริมาณลดลง เนื่องจากชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ยังไม่สามารถออกไปจับปลาได้เต็มที่ เพราะต้องทำตามกฎของไอยูยู ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องซื้อปลาทะเลแพงขึ้น ส่วนโรงงานแปรรูปก็ขาดแคลนวัตถุดิบ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ด้านนายโอฬาร อุยะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด ผู้ส่งออกปลากระป๋องรายใหญ่ และในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยกลุ่มบริษัทของตนมีออร์เดอร์เพิ่มขึ้นในปีนี้ประมาณ 10% หลังจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วยอดการส่งออกถดถอย แต่ปีนี้ก็ประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็ง และต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำยังขาดแคลนวัตถุดิบ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย คือ เรือประมงไม่ได้ออกทำการประมงกว่า 1 หมื่นลำ และวันทำการประมงเหลือน้อยเพียง 7 เดือน อีก 5 เดือนต้องหยุดทำการประมง

 

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์