ห้าง “ญี่ปุ่น” ทยอยปิดสาขา เซ่นพิษ “ทัวริสต์” หดลง

ห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในธุรกิจที่หันมาพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมักกว้านซื้อสินค้าราคาสูงไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอางเหล้าและนาฬิกาหรูขนกลับประเทศ แต่หลังจากรัฐบาลจีนปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าทั้ง 3 กลุ่มเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ได้ทำให้ยอดขายของบรรดาห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นลดลงอย่างรวดเร็ว จนหลายรายไม่สามารถประคองตัวไว้ได้และเริ่มปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร

ล่าสุดสำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า “อิเซตัน มิตซึโคชิ โฮลดิ้ง” ผู้บริหารเชนห้างสรรพสินค้าอิเซตันและมิตซึโคชิ ประกาศปิดห้างสรรพสินค้ามิตซึโคชิ สาขาชิบะ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว ซึ่งถือเป็นเชนห้างสรรพสินค้ารายล่าสุดที่ประกาศปิดสาขา หลังผู้บริหารห้างสรรพสินค้ารายอื่นอย่าง โซโกแอนด์เซบุ (Sogo & Seibu) และเฮชทูโอ รีเทลล์ (H2O Retail) ต่างทยอยปิดสาขาของตนมาตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้

“โทชิฮิโกะ สุกิเอะ” เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ของอิเซตัน มิตซึโคชิ โฮลดิ้ง อธิบายสถานการณ์นี้ว่า หลังการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหรูนักท่องเที่ยวชาวจีนก็เริ่มหันไปสนใจประสบการณ์การท่องเที่ยวมากกว่าการช็อปปิ้งตามด้วยเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ยอดขายในห้างสาขาหลักอย่างกินซ่าซึ่งเพิ่งเปิดร้านปลอดภาษีไปเมื่อต้นปีลดลง จนรายได้ช่วง เม.ย.-มิ.ย.เหลือเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทำให้ไม่สามารถนำรายได้มาอุ้มสาขาในเขตชานเมืองที่ขาดทุนสะสมได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องปิดสาขาชิบะลง โดยยอมจ่ายค่ายกเลิกสัญญาเช่าที่ดินที่ยังเหลืออีก 2 ปี

นอกจากเรื่องท่องเที่ยวแล้วอีกสาเหตุหนึ่งมาจากการแข่งขันอย่างดุเดือดในธุรกิจแฟชั่น ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่รายหลักของบรรดาห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น โดยแบรนด์แฟชั่นรายหลายเริ่มถอนตัวจากตลาดหรือลดช่องทางขายลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายทำให้ห้างสรรพสินค้าย่านชานเมืองขาดแคลนสินค้าตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม“อิเซตัน มิตซึโคชิ โฮลดิ้ง” ได้เดินหน้าแผนรับมือด้วยการหันไปเน้นส่งร้านค้าปลีกขนาดย่อมเจาะพื้นที่สำคัญทั้งย่านธุรกิจและสนามบินตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านโมเดลนี้จาก 100 สาขาเป็น 180 สาขา ภายในปี 2561 เช่นเดียวกับการเร่งขยายสาขาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มปริมาณเม็ดเงินจาก 2 โมเดลนี้ โดยร้านค้าขนาดเล็กสร้างรายได้ประมาณ 30,000 ล้านเยน ในขณะที่สาขาต่างประเทศนั้นเริ่มมีรายได้เป็นน้ำเป็นเนื้อบ้างแล้ว

ทั้งนักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างมองว่าธุรกิจห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นจะปิดตัวลงต่อเนื่องแบบโดมิโนไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีปัจจัยบวกอื่นเข้ามาช่วยหนุน