ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ห้ามพกพา ยาหอมตรา 5 เจดีย์ เข้าเนเธอร์แลนด์เนื่องจากมีส่วนผสมของพืชต้องห้ามที่ใกล้จะสูญพันธุ์” โดยระบุว่า ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ศุลกากร เนเธอร์แลนด์ มีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าของเนเธอร์แลนด์ และของสหภาพยุโรป รายการสิ่งของต้องห้าม/ควบคุมการนำเข้ามีเป็นจำนวนมากบางรายการ เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ (โดยเฉพาะส่วนประกอบจากพืชและสัตว์ตามอนุสัญญา CITES) หากวินิจฉัยพบว่าเข้าข่ายการกระทำผิด ก็จะส่งเรื่องให้ จนท. ตำรวจ ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป ทั้งนี้ ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ข้อกล่าวหา และร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการของ จนท. ศุลกากร
ในกรณีของยาหอมตรา 5 เจดีย์ เป็นกรณีของยาสมุนไพรและยาจีน ที่มีส่วนผสมของพืชต้องห้ามที่ใกล้จะสูญพันธ์ตามอนุสัญญา CITES การนำเข้าต้องมีใบอนุญาต ซึ่ง จนท. จะดูจากส่วนผสมตามที่ปรากฏบนฉลากเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ศุลกากร นธ. จะเข้มงวดกับการนำเข้าสิ่งของต้องห้าม/ควบคุมตามอนุสัญญา CITIES ได้แก่ สิ่งของที่มีส่วนประกอบจากเสือหรือแมวขนาดใหญ่ จระเข้ (หากนำเข้าเกินกว่า 3 ชิ้น) และตะกวด/วรนุช (Varanus) ที่จะต้องมีใบอนุญาตนำเข้ามาแสดงด้วยทุกครั้ง
นอกจากนั้น จนท. ศุลกากร นธ. จะเพ่งเล็งและเข้มงวดกับชาว นธ. หรือผู้มีถิ่นพำนักใน นธ. ที่เดินทางมาจาก ปทท. มากกว่านักท่องเที่ยวชาวไทย โดยจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษกับการนำเข้าสิ่งของต้องห้ามประเภท (1) อาวุธ ซึ่งรวมถึงไม้ยิงหนังสติ๊ก เนื่องจากเห็นว่าอาวุธเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ง่ายใน ปทท. (2) กล้วยไม้ที่มีรากติดมาด้วย (ไม่รวมดอกกล้วยไม้ที่ผ่านกระบวนการปลอดศัตรูพืชแล้ว) (3) การนำเงินสดติดตัวเกินกว่า 10,000 ยูโร ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน (4) ยาสมุนไพร ยาจีน (5) การนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่ารวมกันแล้วมากกว่า 430 ยูโร (จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม)
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นเกี่ยวกับความชัดเจนของสิ่งของต้องห้าม/ควบคุมการนำเข้าโดยเฉพาะในส่วนของยาสมุนไพร แนะนำให้ผู้ที่เดินทางมา นธ. ตรวจสอบกับศุลกากร นธ.
โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ทางเว็บไซต์ www.douane.nl ทาง Facebook “Douane Nederland”
ทาง Twitter : @doune
ทาง Instagram : douane_nl
รวมทั้งยังสามารถ download แอพพลิเคชั่น “Douane reizen” ของศุลกากร นธ. ที่มีทั้งในระบบ IOS และระบบ Android
ผู้ที่มีข้อสงสัยเพียงถ่ายรูปสิ่งของที่ต้องการนำเข้าส่งมาตามช่องทางดังกล่าวข้างต้น จนท. จะตรวจสอบและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกลับไปอย่างรวดเร็ว