ลุ้น! กม.ถูกเลิกจ้าง ได้ ‘เงินชดเชย’ เพิ่มขึ้นอีก 100 วัน ลูกจ้างหวั่นนายจ้างค้านขั้น สนช.

วันที่ 8  กันยายน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. …. ซึ่งเพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างมากขึ้น ว่า หลังจาก ครม. ผ่านความเห็นชอบแล้ว ได้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจร่างกฎหมายดังกล่าว และจะส่งกลับมายัง ครม. อีกครั้ง จากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างกระบวนการ ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จทันเป็นของขวัญให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนได้ภายในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2561  โดยรายละเอียดไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่เสนอ ครม. และผ่านความเห็นชอบไปแล้ว อย่างกรณีเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานมาเกิน 20 ปีโดยไม่มีความผิดต้องจ่ายชดเชย 400 วัน เป็นต้น

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กล่าวว่า หลังจาก ครม. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฯ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุดอนุกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง มีรองอธิบดีกรมสวัสดิการฯ โดยนายอภิญญา และตน เข้าหารือ ซึ่งทางอนุกรรมาธิการสนช. ก็กังวลว่า การเพิ่มอัตราการจ่ายชดเชยมากขึ้น จากเดิมกรอบสูงสุดอยู่ที่ 10 ปีหากถูกเลิกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างเป็นจำนวน 300 วัน แต่อันใหม่จะเป็น 20 ปีหากถูกเลิกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเป็น 400 วัน  ซึ่งกังวลว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการหรือไม่ ก็มีการชี้แจงไปว่า การขึ้นในอัตราดังกล่าวเป็นไปตามกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างมาเลเซียก็มีกรอบอัตรานี้เช่นกัน รวมทั้งที่ผ่านมาก็ต้องเข้าใจว่าลูกจ้าง ที่ทำงานเป็น 20 ปีแต่ถูกเลิกจ้าง กับลูกจ้างทำงาน 10 ปีกลับได้อัตราการจ่ายชดเชยเท่ากันคือ 300 วัน ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมหรือไม่

“ทางอนุกรรมาธิการสนช. ก็รับฟังและเข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ก็อยากให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนจับตาเรื่องนี้ เพราะยังกังวลว่า เมื่อกฤษฎีกาตรวจรายละเอียดของตัวบทกฎหมายนี้แล้ว และส่งให้ ครม. ตามขั้นตอนต้องส่งให้ สนช. เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งจะมีนายจ้างเข้ามาก็อาจมีการค้านประเด็นนี้ได้” นายมนัส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างที่กฎหมายยังไม่ประกาศใช้ มีลูกจ้างร้องเรียนเรื่องปัญหาค่าชดเชยหรือไม่ นายมนัส กล่าวว่า ยังไม่มี เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่เลิกจ้างนั้น มาจากการลดขนาดก็มี และมีการตกลงกับลูกจ้างเป็นไปโดยความสมัครใจ

อนึ่ง สำหรับการกำหนดอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดนั้น  เดิมกำหนดอยู่ 5 อัตรา คือ 1. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน  ได้ค่าชดเชย 30 วัน  2. ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน 4. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 8 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน และ 5. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน  แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอัตราที่ 6 คือ หากทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน

 

ที่มา มติชนออนไลน์