จะขอเดินตามรอยพ่อหลวง จนกว่าชีวิตจะหาไม่

จากปรัชญาทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การทำจริงเพียง 4 คำที่เรียบง่าย ‘กิน แลก แจก ขาย’ สามารถพลิกฟื้นหมู่บ้านดงเรือง อุดรธานี สู่ความเข้มแข็ง จนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการชีววิถี กฟผ. ระดับประเทศ ประจำปี 2559 และพลิกชีวิตของผู้ใหญ่บานเย็น ที่เปลี่ยนความท้อแท้ เป็นความสุขของการเป็นผู้ให้ ด้วยคำพูดจากห้วงลึกของหัวใจว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปรียบเสมือนเทวดาเดินดินเข้าหาประชาชน ถึงแม้พระองค์จะไม่ได้อยู่กับประชาชนขาวไทยแล้ว แต่วันนี้ จะขอรับใช้พระองค์ตอบแทนแผ่นดิน “เดินตามรอยพระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่”

โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสืบสานพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ โดยที่โครงการมีหัวใจหลักคือ การมุ่งเน้นให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเองอย่างพอเพียง ได้ด้วยการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ทั้งการเพาะปลูก การประมง การปศุสัตว์ และการดูแลสิ่งแวดล้อม หรืออาจกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ ‘การปลูกเอง กินเอง ใช้เอง ด้วยแนวทางตามธรรมชาติ’

ความสำเร็จจากโครงการชีววิถีฯ ในหมู่บ้านดงเรือง จ.อุดรธานี

“ตอนแรกเลยได้เห็นโครงการชีววิถีในทีวี ดูแล้วก็อยากทำโครงการเข้าหมู่บ้าน ก็เลยลงมือทำเองเลย” ผู้ใหญ่บานเย็น องอาจ ผู้ใหญ่บ้านดงเรือง หมู่ที่ 6 ต.หนองเม็ก อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ย้อนกลับไปเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน ที่ได้รู้จักกับโครงการนี้เป็นครั้งแรกผ่านจอแก้ว ประกอบกับในช่วงนั้นผลผลิตในท้องนาไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ไม่อุดมสมบูรณ์ จึงต้องการหาทางเลือกใหม่ๆ ในการประกอบการเกษตรเพื่อยังชีพ

ตอนนั้นผู้ใหญ่บานเย็นยอมรับว่า ไม่มีความรู้ความเข้าใจกับการทำชีววิถีเลย แม้จะทำการเกษตรอยู่แล้ว โดยในครั้งแรกหลังได้ชมโทรทัศน์ก็ลงมือเริ่มขุดบ่อ ปลูกผักสวนครัวกับคนในหมู่บ้าน แต่ก็ ทำตามเท่าที่รู้ เท่าที่คิด ซึ่งก็ทำไม่สวย ไม่ดีเหมือนในโทรทัศน์ และคิดท้อแท้ในชีวิต เพราะทำแล้วไม่สำเร็จเหมือนกับที่เห็น อีกทั้งสภาพดินที่แห้งแล้งจากการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ผลผลิตไม่คุ้มค่าการลงทุน และหนี้สินก็พอกพูนตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่บานเย็นได้ชมโทรทัศน์ และเห็นการทรงงานหนักต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทำให้ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เพียรพยายามในการทำต่อไป และฮึดสู้ในการเดินหน้าทำเกษตรชีววิถีขึ้นมาอีกครั้ง เพราะคิดได้ว่า ‘พระองค์ทรงเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน แต่ยังทรงงานหนักเพื่อประชาชนตลอดเวลา แต่เราเป็นคนธรรมดาจะมาท้อแท้ได้อย่างไร’

ประกอบกับในขณะนั้น ลูกที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยการอาชีพหนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นวิทยาลัยในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่เป็นเครือข่ายกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แนะนำให้ผู้ใหญ่บานเย็นไปดูการทำบ่อ ที่วิทยาลัยเพื่อเป็นแนวทางในการนำกลับมาทำเองที่หมู่บ้าน

ในครั้งนั้น ผู้ใหญ่บานเย็นจึงได้ทั้งอุปกรณ์ และความรู้นำกลับมาใช้ที่หมู่บ้าน จนได้ผลผลิตจากการปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ในแนวทางของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนกระทั่งผลผลิตทั้งพืช และสัตว์ สามารถเติบโตได้อย่างอกงาม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้านก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถกินของปลูก และปลูกของที่กินได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อมาเป็นภาระทางการเงิน

“แม้เราไม่ร่ำไม่รวย แต่ก็ทำแล้วมันดี ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างของที่กินๆ ก็ไม่ได้ซื้อของเลย ของที่มีเหลือจากการบริโภคใช้เองเหลือกิน ก็ขาย เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ผู้ใหญ่บานเย็นวัย 55 ปี กล่าว พร้อมกับตั้งสโลกแกนให้ว่าโครงการชีววิถีฯ นี้เป็นโครงการที่ทำให้เกิด ‘กิน แลก แจก ขาย’ ได้อย่างพอเพียงเพราะ ผลผลิตที่ได้หากเหลือก็นำไปแลก หรือแจกกับเพื่อนบ้าน และหากยังมีเหลืออีก ก็นำไปขายเป็นรายได้เสริมได้

มาจนวันนี้.. หมู่บ้านดงเรือง หมู่ที่ 6 ต.หนองเม็ก อ.หนองหาน จ.อุดรธานี มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการถึง 150 ครัวเรือน จากทั้งหมด 170 ครัวเรือน อีกทั้งหมู่บ้านแห่งนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จากการประกวดโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กฟผ. ปี 2559 ในประเภทชุมชนอีกด้วย

กฟผ. บทบาทของผู้สนับสนุนตัวเล็กๆ

นายประเสริฐ ประกอบศักดิ์ ช่างระดับ 10 หัวหน้าสำนักงานอุดรธานี ฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าถึงหน้าที่ของ กฟผ. ในการทำงานในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนประชาชนในครัวเรือน และหมู่บ้านต่างๆ ให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างพอมี พอกิน โดยให้การสนับสนุนการด้านอุปกรณ์ การวางรากฐาน ระบบ การศึกษาดูงาน รวมไปถึงงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่การเกษตรในชุมชนที่เหมาะสม เช่น กฟผ. เป็นผู้วางแผนพื้นที่การใช้งานในพื้นที่แปลงหนึ่ง เพื่อให้การใช้งานพื้นที่เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงที่สุด

ขณะที่ วิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่ง กฟผ. ได้ลงนามความร่วมมือไว้ จะเป็นผู้ให้องค์ความรู้ในการทำชีววิถี เช่น การเลือกพันธุ์พืชในการเพาะปลูก การป้องกันแมลง การเพาะพันธุ์สัตว์ รวมไปถึงองค์ความรู้ทางด้านการเกษตร

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ตรงใจตามความต้องการของชุมชนชนบท ซึ่งชีวิตประจำวันคือ การทำการเกษตร สิ่งที่เราจะสนับสนุนได้ คือองค์ความรู้ การดูงาน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ” ช่างระดับ 10 จาก กฟผ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปให้ความรู้ ประสานงานกับคนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากต้องมีความจริงใจ และเข้าไปในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือต้อง ‘พูดจริง ทำจริง’ ซึ่งนายประเสริฐ บอกเล่าว่า กฟผ. ทำเช่นนั้นเสมอมากับชุมชน จนชุมชนยอมรับจนตอนนี้เป็นเหมือนพี่น้อง และครอบครัวเดียวกันไปแล้ว

ความเป็นกันเองของคน กฟผ. ทำให้ผู้ใหญ่บานเย็นออกปากยอมรับเลยว่า ตอนนี้เป็นเพื่อน เป็นครอบครัวเดียวกันกับคนของ กฟผ. ไปแล้ว ที่พอตนเองมีปัญหาก็ปรึกษาหารือกัน และไม่ได้มองว่า คน กฟผ. เจ้าหน้าที่ของรัฐที่นั่งทำงานในห้องแอร์เย็นๆ แล้ว

มากกว่าความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือ พระคุณที่ต้องทดแทน

เมื่อถามถึงสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้ติดอาวุธความรู้ในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้ใหญ่บานเย็นเล่าว่า นอกจากจะลดรายจ่ายไม่ต้องซื้อของมากินมาใช้แล้ว ส่วนที่เหลือจากการกินการใช้ในครัวเรือน ในชุมชนแล้วก็ สามารถนำไปขายได้ ซึ่งผู้ใหญ่ประเมินว่า มีรายได้เสริมราว 4,000-5,000 บาท ต่อ 1 สัปดาห์ ซึ่งไม่รวมกับส่วนการทำเกษตรกรรมเพื่อขาย

“เศรษกิจพอเพียงของพระองค์มาใช้ เห็นผลจริงๆ” ผู้ใหญ่บานเย็นระบุ พร้อมพูดว่า จะเดินตามรอยพระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ และการได้ทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านที่ดูแล และฝ่าฟันไปพร้อมๆ กับลูกบ้านกว่า 180 ครัวเรือนนี้เป็นการทดแทนพระคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ผู้ใหญ่บ้านในอายุ 50 ปีคนนี้ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 เปรียบเสมือนเทวดาเดินดินเข้าหาประชาชน ไม่ได้ถือตน และถึงแม้พระองค์จะไม่ได้อยู่กับประชาชนขาวไทยในวันนี้แล้ว แต่วันนี้ได้รับใช้พระองค์ ได้ตอบแทนแผ่นดินแล้ว

“จะเดินรอยตามท่านตลอด ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชาวบ้านได้อยู่ดีกินดี เราก็ภูมิใจ ก็ดีใจแล้ว” ผู้ใหญ่บานเย็นกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ เมื่อระลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9

“ความหวังที่ยั่งยืน”