เผยแพร่ |
---|
น.ส.กัณญภัค ตันติพพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกยังคงคาดการณ์การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกทั้งปีนี้ที่บวก 5% เทียบปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยบวก คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน ประกอบกับความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยมีมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากคู่แข่งสำคัญ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการปรับตัวของสินค้าไทยต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เป็นที่ต้องการในยุคดิจิตอล
อย่างไรก็ดี หากปีนี้จะบวก 7% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ปรับเพิ่มเป้าทำงาน มองเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีปัจจัยลบอีกมาก ได้แก่ สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ เมื่อสิ้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 7.42% หากยังแข็งต่อเนื่อง มีเงินทุนไหลเข้า จะกระทบส่งออกกับช่วงท้ายของไตรมาสสุดท้ายปีนี้และไตรมาสแรกปีหน้า ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์
และปริมาณตู้บรรจุสินค้าสินค้านำเข้าลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก อาจกระทบต่อปริมาณการส่งออกในไตรมาส 4 นี้ และส่งผลต่อการส่งออกในระยะยาว รวมทั้งปัจจัยจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เช่นความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี
ส่วนการส่งออกขณะนี้ส่วนใหญ่ปิดคำสั่งซื้อถึงปลายปีแล้ว โดยใน 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 18,720 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จึงจะทำให้ทั้งปีนี้บวก 5% ส่วนบวก 7% ต้องทำให้ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 19,600 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ต้องทำงานกันอย่างหนัก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกเดือนก.ค. 2560 มีมูลค่า 18,852 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 10.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ส่งออก 7 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 132,399 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 8.2% นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี เติบโตขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อทอนรายได้ส่งออกจากดอลลาร์เป็นเงินบาท จากต้นปีถึงขณะนี้รายได้ที่เป็นเงินบาทของผู้ประกอบการหายไปเฉลี่ยประมาณ 2% ส่วนที่หายไปเป็นกำไรหรือส่งผลถึงขาดทุนนั้น ขึ้นกับประเภทธุรกิจว่ามีการนำเข้าวัตถุดิบหรือทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ด้วยหรือไม่ เมื่อรายได้คิดเป็นเงินบาทลดลง ส่งผลต่อทั้งห่วงโซ่การผลิต กดกันถึงเกษตรกรมีรายได้ลดลง ราคาพืชผลทรงตัวระดับต่ำ และภาคผลิตแทบจะไม่จ้างแรงงานทำงานล่วงเวลา (โอที) นัก
นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากค่าเงินผันผวนทำให้ปัจจุบันการทำคำสั่งซื้อระหว่างผู้ส่งออกกับผู้นำเข้า ซึ่งปกติจะทำล่วงหน้า ลดเหลือเฉลี่ย 6 เดือนล่วงหน้า บางรายเหลือ 3 เดือนล่วงหน้า จากเดิมจะทำล่วงหน้า 1 ปี ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาถึง 7.42% นับว่าแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งลดลง หากการแข็งค่าลดลงมาอยู่ที่ 3% ได้ ยังสามารถแข่งขันได้ จึงไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่าไปกว่าคู่แข่ง
ดังนั้น มีข้อเสนอว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรักษาเสถียรภาพของเงินบาทในระดับที่แข่งขันได้ สนับสนุนการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของเอสเอ็มอี บริหารจัดการแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการ เร่งยกระดับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และสนับสนุนการลงทุนของเอกชนไทยในต่างประเทศ
ที่มา ข่าวสดออนไลน์