ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) แจ้งว่า ขณะนี้ สนข.ได้กำหนดรูปแบบบัตรแมงมุม ซึ่งเป็นบัตรที่จะใช้กับระบบตั๋วร่วม หรือบัตรใบเดียวสามารถใช้กับขนส่งสาธารณะทุกระบบแล้ว โดยแบ่งเป็น 1.บัตรบุคคลทั่วไป 2.บัตรนักเรียน/นักศึกษา และ 3.บัตรผู้สูงอายุ โดยจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมนี้
บัตรผู้สูงอายุ บัตรนักเรียน/นักศึกษา
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในปี 2560-2561 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เรื่องการดำเนินการนำระบบตั๋วร่วม(e-ticket) มาใช้ในการเชื่อมการเดินทางของประชาชนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) โดยมีรายละเอียดดังนี้
แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม(CTC)
ระยะเริ่มต้น 1.สำนักธุรกิจบัตรโดยสารของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์ทางธุรกิจ(Business Rule) สำหรับการใช้ตั๋วร่วมของผู้ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเจรจากับผู้ให้บริการต่างๆ ในระบบตั๋วร่วมและลงนามในข้อตกลงกับผู้ให้บริการ(Service Provider Agreement) โดยคำนึงถึงรูปแบบการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้โดยสารและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม(ส.ค.2560)
2.สนข.ให้สิทธิ รฟม.ใช้ระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง(CCH) โดยทำสัญญาหรือหนังสือข้อตกลงระหว่าง สนข. และ รฟม. เพื่อเข้าดำเนินงานและบำรุงรักษาระบบให้เป็นไปตามข้อกำหนด
และวัตถุประสงค์ของสัญญาโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง(CCH) ทั้งนี้ให้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง(ส.ค.2560)
3.รฟม.เจรจากับผู้ประกอบการภาคขนส่งและนอกภาคขนส่งเพื่อใช้งานระบบตั๋วร่วม โดยมี สนข.เป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงาน(ส.ค.2560)
ระยะต่อไป คือ 1.รฟม.จัดตั้งบริษัทภายใต้รัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ(ส.ค.2560-ก.ค.2561)
2.สนข.ดำเนินการโอนสิทธิดังกล่าวให้ รฟม.ตามขั้นตอน โดยให้ สนข.นำเสนอเรื่องการส่งมอบระบบ ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง(CCH) ให้หน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมเพื่อสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) พิจารณานำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(DPL) ก่อนนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามขั้นตอนต่อไป(ส.ค.2560-ก.ค.2561)
การดำเนินงานบูรณาการระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางเพื่อใช้งานระบบตั๋วร่วม
ระบบขนส่งมวลชนปัจจุบัน คือ 1.รฟม.ปรับปรุงระบบตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม(ต.ค.2560)
2.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด(รฟฟท.) ปรับปรุงระบบตั๋วของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน(Airport Rail Link) ให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม(ต.ค.2560)
3.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ติดตั้งระบบตั๋วสำหรับรถโดยสารประจำทาง จำนวน 800 คันให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม ทั้งนี้ ขสมก.มีแผนที่จะติดตั้งให้ครบ 2,600 คัน ภายในต้นปี 2561 (ต.ค.2560)
4.ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BTS) จัดทำข้อตกลง (Service provider agreement) และติดตั้งระบบตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม(ส.ค.2560-ก.ค.2561)
5.ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BEM) จัดทำข้อตกลง(Service provider agreement) และติดตั้งระบบตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม(ส.ค.2560-ก.ค.2561)
สำหรับผู้ให้บริการนอกภาคขนส่ง(Non Transit) ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมเจรจากับร้านค้าและกิจการนอกภาคขนส่งให้เข้าร่วมใช้งานระบบตั๋วร่วมในการชำระค่าสินค้าและบริการ(ภายในปี 2560)
โดยในส่วนของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ(National e-Payment Master Plan) ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม ปรับปรุงและพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง(CCH) ให้รองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วมในภาคขนส่ง(ต.ค.2560)
ระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ(Other Transit) คือ 1.ระบบทางพิเศษ ระบบทางหลวงพิเศษ และระบบเรือโดยสาร ดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่มีการพัฒนาและจัดทำระบบนั้นๆ แล้วเสร็จ
2.รถไฟฟ้าสายใหม่ ดำเนินการตามกรอบระยะเวลาการก่อสร้างรถไฟฟ้าแต่ละสาย
ระบบตั๋วร่วมรองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย(E-Payment) ผ่าน “บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย” ของรัฐบาล
ระบบตั๋วร่วมได้ออกแบบให้สามารถรองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ภายใต้โครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ(National e-Payment) โดยผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บัตรสวัสดิการในการใช้บริการระบบขนส่ง เช่น ระบบรถโดยสารประจำทาง ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้กำหนดแผนบูรณาการระบบตั๋วร่วมเข้ากับระบบจ่ายเงินเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยให้เริ่มใช้งานระบบตั๋วร่วมได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป