โชว์งานวิจัยไทย “โดมติดหลังคาลดความร้อน” ระบายอากาศวิธีธรรมชาติ-ป้องกันรังสีได้ตลอดปี

จากการเจอปัญหาเรื่องเเสงสว่างในบ้าน เมื่ออยากรับเเสงสว่าง จึงมีการติดอุปกรณ์บนหลังคา สิ่งที่ได้กลับมาดันเป็นความร้อน นอกจากอยู่ไม่สบายเเล้ว ยังเปลืองค่าเเอร์อีกด้วย

ดร.โสภา วิศิษฏ์ศักดิ์ รองหัวหน้าภาควิชานวัตกรรมอาคาร/อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ถึงงานวิจัยที่เริ่มจากปัญหาดังกล่าวนำมาสู่ การคิดค้นเป็น “ชุดช่องเเสงเเละอุปกรณ์กันเเดดสำหรับหลังคา” หรือเรียกอีกอย่างว่า “โดมติดหลังคาลดความร้อนในบ้าน” ที่มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ

ซึ่งรูปทรงวัสดุสอดคล้องตามทิศทางการเดินทางของดวงอาทิตย์ มีการออกเเบบตามการใช้งาน ใช้วัสดุเท่าที่จำเป็น อีกทั้งยังป้องกันรังสีได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องปรับมุม เเละอุปกรณ์ดังกล่าวไม่มีระบบกลไกที่ใช้ในการควบคุม อาทิ ระบบไฟฟ้า เซ็นเซอร์

ดร.โสภา อธิบายถึงการทำงานของอุปกรณ์นี้ว่า การทำงานเริ่มจากคำนวณทิศทางของเเสงอาทิตย์เเล้วออกเเบบ ช่องเปิดเเละส่วนกันเเเดดให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งชุดช่องเเสงเเละอุปกรณ์กันเเดดสำหรับหลังคาสามารถกันเเสงที่เป็นเเสงตรง กันได้เเม้ที่ร้อนมีรังสียูวีจำนวนมาก สามารถกันได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ปรับมุม ใช้วัสดุน้อย รูปทรงเรียบง่าย

โดยชุดอุปกรณ์ตัวต้นเเบบ รองหัวหน้าภาควิชานวัตกรรมอาคาร เล่าว่า นอกจากการรับเเสงเเล้วยังมีระบบระบายอากาศ สามารถระบายความร้อนออกจากภายในบ้านได้ด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งจะลอยออกตามระบบที่ออกเเบบไว้ ส่งผลให้อากาศดีขึ้น ความร้อนลดลง

“สำหรับการรับรู้ทิศทางของตัวเครื่องขึ้นอยู่กับการออกเเบบ เราคำนวณทิศทางตั้งเเต่ช่วงการทำวิจัย มีการทดลองติดเเละสังเกตเเสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถติดตายอุปกรณ์ กันเเสงได้ 100% โดยอุปกรณ์ชุดนี้ถูกออกเเบบมาเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น เนื่องจากเมื่อไปอยู่ในประเทศอื่นทิศทางของดวงอาทิตย์ก็จะเปลี่ยนไป”

ในการทำวิจัยมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นระยะ เนื่องจากการเริ่มทำในสิ่งที่ไม่มีคนทำมาก่อน จะเกิดสิ่งที่ไม่คาดหวังมาเรื่อยๆ ในส่วนของราคาด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่ในประเทศ คาดว่าราคาจะอยู่ในหลักพันเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งโดมติดหลังคา 1 ชุด ครอบคลุมการทำงานประมาณ 2 ตารางเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งานของผู้ติดตั้ง หากต้องการให้ระบายอากาศ เพิ่มเเสงสว่างได้ดี ควรจะติดถี่ขึ้น

ดร.โสภา เผยถึงการติดตั้งว่า สามารถติดบนหลังคาบริเวณที่ต้องเเสงธรรมชาติเเละการระบายอากาศ สำหรับอาคารทั่วๆ ไป พื้นที่ใช้งานเฉพาะที่ต้องป้องกันเเสงเเดด อาทิ พื้นที่ภายในบ้าน ห้องโถง ห้องครัว บ้านพัก ตึกเเถว ห้องสมุด หอศิลปะ พิพิธภัณฑ์

ขณะนี้อยู่ในช่วงปลายของงานวิจัย ซึ่งเก็บผลงานเเละผลสำรวจครบหมดเเล้ว ตลอดเวลาการวิจัยกว่า 3 ปีได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนานักวิจัยเเละงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ซึ่งใกล้จะเสร็จสิ้นโครงการเเล้ว โดยมีบริษัท มหัศจรรย์ อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด สนใจเทคโนโลยีเเละให้การสนับสนุน

ด้านประโยชน์ที่ผู้ติดตั้งจะได้รับคือ สร้างเเสงสว่าง เเละสภาวะเเวดล้อมที่ดีในอาคาร สามารถลดเเสงจ้า ลดความร้อน ลดรังสี UV จากเเสงเเดด ทำให้ไม่ทำลายเฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะ เเละวัสดุตกเเต่งอาคาร ออกแบบมาเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน คงทน เเข็งเเรง เเละตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วยการประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

ถือเป็นความสำเร็จอีกอย่างของงานวิจัยไทย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เเละคาดหวังว่าในอนาคตเจ้าของธุรกิจจะเข้ามาต่อยอดอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมเศรษฐกิจในอนาคต โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” จัดขึ้นเพื่อสื่อสาร กระบวนคิด วิธีทำงานเเละผลงานวิจัย ความร่วมมือกับภาคีวิจัยเเละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการวิจัย รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอด 25 ปีที่ได้ดำเนินการมา

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์