ธุรกิจยักษ์ใหญ่เร่งทรานส์ฟอร์ม สร้างคนพันธุ์ใหม่ รับสมรภูมิเปลี่ยน

ธุรกิจยักษ์ใหญ่เร่งทรานส์ฟอร์ม “องค์กร-คน” รับมือโลกธุรกิจเปลี่ยนในยุคดิจิตอล “เอไอเอส-เอสซีบี” เปิดอคาเดมีจัดหลักสูตรสร้าง “ทาเลนต์” เคแบงก์สร้าง “พนักงานพันธุ์ใหม่”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกระแสดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่ทำให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับมือการแข่งขันของธุรกิจโลกใหม่ นอกจากการให้ความสำคัญกับการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจกำลังตื่นตัวกับการทรานส์ฟอร์มองค์กร โดยเฉพาะการเปลี่ยนไมนด์เซต “พนักงาน” ให้ออกจากกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ พร้อมการยกระดับทักษะการทำงานในยุคดิจิตอล

เคแบงก์สร้างพนักงานพันธุ์ใหม่

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปลี่ยนผ่านในยุคดิจิตอลที่ธุรกิจเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เช่นที่ปัจจุบันธุรกิจแบงก์มีฟินเทคเข้ามา ทำให้บทบาทของธนาคารลดลง ดังนั้น การที่ธนาคารจะปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันในยุคดิจิตอล สิ่งสำคัญนอกเหนือจากเรื่อง “ดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชั่น” คือเรื่องการทำ “ออร์แกไนเซชั่นทรานส์ฟอร์เมชั่น” ธนาคารจะต้องหาวิธีในการจัดการและปรับองค์กรและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงกระบวนการใหม่ มีบุคลากรที่มีไมนด์เซตใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความเฉพาะคนใหม่ที่จะเข้ามา แต่คนเก่าก็ต้องเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรม ทำให้รู้สึกเป็นเรื่องสนุกในการที่สามารถค้นหาสิ่งใหม่ๆ ต้องเปลี่ยนและสนับสนุนให้มีการเติบโตในวัฒนธรรมใหม่

“หลังจากนี้ธนาคารจะต้องมีวิธีการจัดการคนหลายๆ แบบ เช่น การรับสมัครคนพันธุ์ใหม่เข้ามาทำงาน ซึ่งมีความต้องการไม่เหมือนคนพันธุ์เก่า เช่น บางคนเข้ามาได้เงินเดือน 100 บาท แต่ขอแค่ 60 บาท และส่วนที่เหลือขอเป็นลักษณะ profit sharing เพราะเขาไม่ได้คุยแต่เรื่องเงินเดือนเท่าไหร่ แต่ต้องการรู้ว่าจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง ระบบการจ่ายผลตอบแทนก็จะไม่เหมือนเดิม วิธีการทำงานก็ไม่เหมือนเดิม เพราะเขาไม่ได้ต้องการเป็นนายแบงก์ตามปกติ พนักงานพันธุ์ใหม่อาจจะไม่ได้เป็นพนักงานเต็มเวลา อันนี้ผู้บริหารแบงก์ก็ต้องเปลี่ยนไมนด์เซต” นายพิพิธ กล่าวและว่า ดังนั้น ระบบการจ้างงาน ระบบการเข้ามาทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างก็จะไม่เหมือนกับธนาคารและพนักงานธนาคารที่เราเคยเห็น ดังนั้น ธนาคารต้องเปลี่ยน ซึ่งโครงสร้างองค์กรจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็เป็นเรื่องใหม่ของธนาคาร

ผุดหลักสูตรทรานส์ฟอร์ม “คน”

ขณะที่ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า องค์กรธุรกิจในปัจจุบันต้องเตรียมความพร้อมให้บุคลากรในองค์กรเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิตอล ทำให้บริษัทมีการลงทุนในหลายส่วนเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรยุคใหม่ เช่น เปิดหลักสูตรอบรมพนักงานระดับต่างๆ ทั้งหลักสูตรที่เรียนได้ผ่านระบบออนไลน์ (อีเลิร์นนิ่ง) และแบบออฟไลน์ โดยเอไอเอส อคาเดมีที่จะจัดอบรมพนักงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานไปจนถึงเติบโตขึ้นเป็นผู้บริหารระดับต่างๆ และที่เปิดใหม่เป็นหลักสูตรสำหรับทาเลนต์ เรียกว่า ACTs (AIS Creative Talents) รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ ฮาร์วาร์ด, เอ็มไอที และแมนเชสเตอร์ยูนิเวอร์ซิตี้ เพื่อมาจัดทำหลักสูตร เป็นต้น

“คนของเราเก่งมาก ดีมาก แต่วันนี้ไม่พอ จำเป็นต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ที่สำคัญคือ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วมาก เมื่อลูกค้าเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ถ้าเราไม่เปลี่ยนก็จะไม่ทันการ เราต้องการเป็นนิวเจเนอเรชั่นออร์แกไนเซชั่น แต่องค์กรคนรุ่นใหม่ในความหมายของผม ไม่ได้ดูกันที่อายุ แต่ดูที่ความคิดสมัยใหม่”

ด้าน นางสาวพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief People Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า ตอนนี้สนามรบเปลี่ยน มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจการเงินมากขึ้น ซึ่งต่อไปบทบาทและพฤติกรรมของลูกค้าจะเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ธนาคารจึงต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ให้ความรู้ และผู้ให้คำแนะนำ ธนาคารจึงได้จัดตั้ง SCB Academy เพื่อพัฒนาหลักสูตรสำหรับพนักงานโดยเฉพาะ ด้วยการอาศัยความร่วมมือจากสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะเราเปลี่ยนตั้งแต่ระบบเทคโนโลยี พนักงานที่จะต้องพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน อันไปสอดรับกับการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ที่จะทำให้วิธีคิด พฤติกรรมสอดคล้องกับอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะพนักงาน Gen Y และ Gen Z ที่เข้ามาทำงานกับเรา เพราะปีหนึ่งๆ มีบัณฑิตจบใหม่มาสมัครงานกับเราประมาณ 2,000-3,000 คน”

เนื่องจากธุรกิจของธนาคารเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล และ business intelligence ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เราถึงต้องออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อรีครูตพนักงานที่มีทักษะเฉพาะด้านเพื่อมาเป็นโปรเจ็กต์แมเนเจอร์ที่สามารถวิเคราะห์ วางแผน บริหารจัดการ แนะนำความรู้ เพื่อให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในธุรกิจ

“ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงมีแนวทางชัดเจนตั้งแต่แรก และยิ่งเมื่อให้เข้ามาอบรมใน SCB Academy เขาจะได้รับการโค้ชโดยผู้บริหารระดับสูง ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการอบรมและพัฒนาจากหลักสูตรที่เราดีไซน์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อสร้างเขาให้เป็น talent ขององค์กรต่อไป”

HR ต้องปรับ “แคเรียร์พาท”

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ประธานสายวิชาการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากหลายองค์กรปรับตัวให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่โลกดิจิตอล จึงทำให้ฝ่ายเอชอาร์ต้องปรับเส้นทางการเติบโตในวิชาชีพ (career path) ให้กับคนรุ่นใหม่ด้วย เนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน ทั้งในและต่างประเทศ ต่างมุ่งนำเสนอหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลและนวัตกรรม

“ตำแหน่งงานของคนรุ่นใหม่จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน และส่วนใหญ่จะพ่วงท้ายด้วยคำว่าดิจิตอล หรือนวัตกรรม เนื่องจากรูปธุรกิจเปลี่ยน แนวทางการทำงานจึงเปลี่ยนไปด้วย อีกอย่างอาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่รอให้หัวหน้างานเป็นคนชี้ชะตาอนาคตว่าภายใน 3-5 ปีจะทำงานในตำแหน่งไหน เงินเดือนเท่าไหร่ แต่เขาต้องการความชัดเจนเลยว่าหลังจากทำงานภายใน 1-2 ปีเขาจะขึ้นไปอยู่ตำแหน่งไหน และเงินเดือนเท่าไหร่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง กลุ่มคนเหล่านี้ก็พร้อมจะลาออกทันที”

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์