ดอยช้างรุกกาแฟพรีเมี่ยม “เกอิชา” โลละ 8 พัน

ผลผลิตกาแฟอาราบิก้าเชียงรายพุ่ง 4 พันตัน โกยรายได้ปีละ 2 พันล้าน ด้านกาแฟดอยช้างรุกตลาดพรีเมี่ยมไทย-เทศ ปรับโฉมแพ็กเกจจิ้งครั้งใหญ่ ใส่ลวดลายกลุ่มชาติพันธุ์ 3 เผ่า พร้อมออกโปรดักต์ใหม่พันธุ์เกอิชา สุดยอดกาแฟจากเอธิโอเปีย จำหน่ายซอง 100 กรัม ราคา 800 บาท ความนิยมพุ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ลูกค้าต่างชาติสั่งจองเรียบ


นายนาวิน อินทรจักร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ตลาดกาแฟในปัจจุบันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดภายในประเทศและทั่วโลก โดยในปี 2559 มีมูลค่าตลาดราว 15,000 ล้านบาท คาดว่าปี 2560 จะเติบโตขึ้น 15-20% สังเกตได้จากทุกแห่งมีการเปิดร้านกาแฟเพิ่มขึ้น และประเมินว่าความต้องการกาแฟสูงถึง 20,000 ตัน จึงถือว่าตลาดยังคงเปิดกว้าง โดยจังหวัดเชียงรายได้ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจัดงานเชียงราย คอฟฟี่ แอนด์ ที เฟสติวัล 2017 วันที่ 25-27 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงราย ได้รับการตอบรับอย่างสูง

สำหรับ จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าประมาณ 38,000 ไร่ เป็นต้นกาแฟที่ให้ผลผลิตแล้ว 33,000 ไร่ ปริมาณผลผลิต 4,355 ตัน สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท
ขณะที่ผลผลิตกาแฟอาราบิก้าทั่วประเทศมีประมาณ 9,000 ตัน/ปี จึงถือได้ว่าสัดส่วนเกือบ 50% ไปจากแหล่งผลิตที่จังหวัดเชียงราย ทั้งนี้เพราะกาแฟให้ผลผลิตคุณภาพดีในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล
ปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ปริมาณฝน 1,500-2,000 มิลลิลิตร อุณหภูมิตั้งแต่ 16-22 องศาเซลเซียส/ปี ซึ่งหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายมีลักษณะดังกล่าวครบถ้วน

ด้าน นายปณชัย พิสัยเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟบนดอยช้างประมาณ 1,200 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกราว 30,000 ไร่ โดยปี 2559 มีผลผลิตรวมกันประมาณ 2,000 ตัน ราคาจำหน่ายเฉลี่ย 1,080-20,000 บาท/กิโลกรัม
ล่าสุดกาแฟดอยช้างมีการพัฒนาครั้งใหญ่ โดยเพิ่มชนิดกาแฟจากเดิมมีเฉพาะพันธุ์อาราบิก้าอย่างเดียว ก็เพิ่มพันธุ์เกอิชา ซึ่งมาจากประเทศเอธิโอเปียที่มีความหอมอย่างมาก โดยพันธุ์อาราบิก้าดั้งเดิมซึ่งเคยจำหน่ายเฉพาะเป็นผลผลิตเกรดเอ บี ซี ดี ก็ได้พัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ตราดอยช้าง ลวดลายของแพ็กเกจเป็นรูปกลุ่มชาติพันธุ์ 3 เผ่า ได้แก่ อาข่า ลีซู และจีนยูนนาน เพื่อรำลึกถึงการมีส่วนร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในการพัฒนาผลผลิตกาแฟดอยช้าง และเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่บนดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกและผลิตนั่นเอง

นอกจากนั้น ยังได้ออกบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ขนาด 250 กรัม แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ Espresso Supreme ราคา 350 บาท Organic Signature ราคา 350 บาท Premium Classic ราคา 270 บาท และ Peaberry Classic ราคา 400 บาท ส่วนกาแฟเกอิชามีพื้นที่ปลูกจำกัด จึงบรรจุซองขนาด 100 กรัม จำหน่ายราคา 800 บาท หรือ 8,000 บาท/กก. ซึ่งพบว่าผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยลูกค้าต่างประเทศจะจองล่วงหน้าจนหมด ส่วนรูปแบบซองเดิมๆ ก็คงทยอยหมดไป

“เดิมเราเน้นส่งผลผลิตชั้นดีจำหน่ายต่างประเทศร้อยละ 90 แต่ในช่วง 3-4 ปีมานี้ตลาดในประเทศก็เติบโต จึงมีการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศครึ่งต่อครึ่ง อย่างไรก็ตามตลาดในต่างประเทศก็ยังคงมีมาก เราจึงขยายเปิดร้านตามประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เกาหลีใต้มีกว่า 40 สาขา นอกจากนี้ยังมีที่สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้งหมดประมาณ 60 สาขา ล่าสุดกำลังมุ่งตลาดในกลุ่มเออีซีด้วย” นายปณชัย กล่าว

ขณะที่จังหวัดเชียงรายปัจจุบันมี 3 สาขา และอยู่ระหว่างการขยายไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมมี 2 สาขา เตรียมเพิ่มเป็น 3-4 สาขาในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ