เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันการไปทำงานต่างประเทศยังคงเป็นที่ต้องการของคนหางาน เพราะเชื่อว่าจะสร้างรายได้ดีให้กับคนหางาน ดังนั้นจึงเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยอ้างว่ามีตำแหน่งงานดี รายได้ดีในต่างประเทศ และสามารถช่วยจัดส่งไปทำงานได้ เห็นได้จากเมื่อช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานกรณีถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวงถึงจำนวน 317 คน โดยจ่ายเงินให้ไปแล้วแต่ไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงาน ซึ่งผู้ถูกหลอกลวงส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ และจากการตรวจสอบพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ร้องทุกข์ ถูกชักชวนให้ไปทำงานต่างประเทศผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น โดยผู้ถูกหลอกลวงไม่เคยพบตัวตนที่แท้จริง ไม่ทราบชื่อและนามสกุลของผู้หลอกลวง แต่ยอมโอนเงินให้เพราะเชื่อว่าเป็นงานดี รายได้ดีกว่าทำงานอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงกล้าเสี่ยงจ่ายเงินให้ไป แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงานตามสัญญา ทั้งยังติดต่อผู้หลอกลวงไม่ได้อีกด้วย
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น ขณะนี้ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 195 คน โดยผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปีไปจนถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาทไปจนถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“จึงขอเตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อผู้ชักชวนไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะการสมัครผ่านทางเฟซบุ๊กและไลน์ โดยยอมจ่ายเงินให้ไปทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ เพราะการเปิดและปิดบัญชีกระทำได้โดยง่าย ซึ่งเมื่อคนหางานโอนเงินให้ไปแล้วก็จะปิดบัญชีหลบหนีไป เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงและเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี ขอให้ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร.02 245-6763 หรือสายด่วน 1694” นายวรานนท์ กล่าว