ปชช.ต้องรู้! เเจง “สวัสดิการคนจน” ซื้อของร้านธงฟ้า200/เดือน ขึ้นรถไฟ-รถเมล์-บขส.500/เดือน

ครม. มีมติให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย สิทธิซื้อสินค้าร้านธงฟ้า 200 บาท/เดือน ขึ้นรถไฟ รถเมล์ บขส. 500 บาท คาดรัฐบาลจะใช้วงเงินในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ปีละ 41,940 ล้านบาท

วันที่ 29 สิงหาคม 2560 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลว่า นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เสนอเรื่องประชารัฐสวัสดิการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สืบเนื่องมาจากว่าทางกระทรวงการคลังได้เปิดให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยลงทะเบียนเมื่อวันที่ 3 เม.ย ถึง 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางรัฐได้ตัวเลขมา 14.2 ล้าน เมื่อเอามาผ่านระบบการตรวจสอบ เหลือ 11.67 ล้าน หลังจากนั้นทางรัฐได้นำไปทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการคลังได้นำเสนอ ครม. ขออนุญาตทำโครงการทำบัตรสวัสดิการ และทางรัฐได้อนุมัติ ได้เงินมาทำโครงการ 1,541 ล้าน

วันนี้ได้จัดการขอสวัสดิการดำเนินผ่าน ทางครม.ได้อนุมัติ แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับการเดินทาง กรณีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จะมี รถเมล์ รถไฟฟ้า ใช้วงเงิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน กรณีที่ 2 เดินทางระยะไกล โดยรถไฟ จะมีรถโดยสาร รถเมล์ในกรุงเทพมหานคร รถบขส. และรถไฟ ได้วงเงิน 500 บาท โดยไม่ปะปนกัน และรถเมล์ที่สามารถขึ้นได้ก็จะมีการทำอีทิกเก็ต เมื่อประชาชนได้บัตรแล้ว รถเมล์ก็จะติดตั้งอีทิกเก็ตเสร็จพอดี รถเมล์และรถไฟฟ้าจะมีระบบที่เรียกว่าแมงมุม หรือตั๋วร่วม เราสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ถ้าในกรณีที่เป็นบัตรของ บขส. และรถไฟ จะไม่สามารถใช้ระบบของอีทิกเก็ตได้ แต่ทางเราจะนำเครื่องรับบัตรไปวางไว้ที่จุดขายตั๋วตาม บขส. และรถไฟ

ดังนั้นหากประชาชนท่านใดที่ต้องการขึ้นก็นำบัตรไปเสียบเพื่อตัดเงินในบัตรและสามารถขึ้นได้ แต่รถเมล์และรถไฟฟ้า ท่านต้องขึ้นไปบนรถที่เป็นเครื่องอีทิกเก็ตเพื่อสแกนบัตรจ่ายแทนเงินสด จะทำให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

กรณีที่ 2 ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ให้สำหรับไปซื้อสินค้าที่จำเป็น จากร้านธงฟ้าหรือร้านที่เข้าร่วมลงทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ และทางกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล ดังนั้นถ้าทางกระทรวงพาณิชย์ส่งรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมมาเท่าไหร่ ทางรัฐก็จะนำเครื่อง EDC.ไปติดตั้ง เพราะเครื่องนี้มีโปรแกรมสามารถที่จะอ่านบัตรสวัสดิการได้ บัตรก็คู่กับเครื่อง และรัฐสามารถให้วงเงินได้ตามรายได้ของประชาชน อาทิ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จะได้เงิน 300 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท จะได้เงิน 200 บาทต่อเดือน กรณีก๊าซหุงต้มจะเป็นกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล และได้รับสวัสดิการ 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน และทุกครั้งที่ประชาชนนำบัตรไปรูด บัตรแต่ละใบจะมีข้อมูลระบุไว้ครบถ้วนว่า ซื้อของอะไรจำนวนเงินเท่าไหร่

บัตรทุกใบสามารถใช้ได้ 1 เดือน ถ้าหากครบกำหนด 1 เดือนแล้ว เงินที่เหลือในบัตรก็จะถูกหักทันที และทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน เงินจำนวน 500 บาท ก็จะเข้าทันที ทุกสิ้นเดือนทางหลังบ้านก็จะคำนวณตัวเลขว่า ร้านธงฟ้า รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ที่ใช้บัตรสวัสดิการใช้เงินหมดไปเท่าไหร่ ซื้ออะไรไปบ้าง และจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขและนำมาชาร์จเงินกับทางรัฐบาล และทางรัฐบาลก็จะนำเงินที่ได้คำนวณออกมาแล้วนำไปจ่ายให้กับผู้ประกอบการแต่ละร้านเป็นประจำทุกวันที่ 3 หลังจากวันทำการทุกเดือน

รถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ ร้านค้า ร้านธงฟ้าที่ร่วมโครงการจะต้องมีสติ๊กเกอร์แปะไว้ว่ารถคันไหนมีระบบอีทิกเก็ต ทำให้ประชาชนสามารถรู้ได้เลยว่าคันไหนที่สามารถใช้บัตรสวัสดิการได้

ช่วงนี้บัตรกำลังผลิตอยู่และจะนำไปแจกประมาณวันที่ 21 ก.ย. และให้ทันใช้ได้วันที่ 1 ต.ค. ดังนั้น รถเมล์ 800 คันกำลังดำเนินการติดอยู่และจะทันกับการออกใช้บัตรพอดี

สำหรับบัตรขึ้นรถเมล์ ทางรัฐบาลได้ทำการนำเอาผู้ที่ลงทะเบียนในกรุงเทพฯ และ 6 จังหวัดใกล้เคียง เท่านั้น เพราะประชาชนต่างจังหวัดหากทำแล้วไม่ได้ขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯ จะเป็นการเปลืองงบประมาณ จึงได้ทำบัตรขึ้นรถเมล์ให้กับประชาชนจำนวน 1.3 ล้านคน จากจำนวน 11.67 ล้านคน ที่จะมีบัตรสวัสดิการที่มี 2 ชิพ และสามารถขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าได้ จังหวัดใกล้เคียง 6 จังหวัดที่จะได้รับมีดังนี้ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ นครปฐม

ทั้งนี้ บัตรสวัสดิการถ้าหากทำหายหรือย้ายทะเบียนบ้านสามารถนำข้อมูลหลักฐานมายื่นขอบัตรใหม่ได้ โดยเสียค่าธรรมเนียม หากเป็นบัตรธรรมดาที่ไม่ใด้ใช้แบบแมงมุม (รถไฟ ร้านค้าธงฟ้า) มีค่าบริการประมาณ 50 บาท และบัตรแมงมุม (ตั๋วร่วม) มีค่าบริการ 100 บาท เพราะบัตรแต่ละใบที่นำออกมามีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์