กระทรวงอุตฯ ลุยเอสเอ็มอีสัญจร จ.อุดรธานี เอกชนจีบลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดคลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ ที่จ.อุดรธานี ครั้งที่ 8 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม หารือถึงแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง รวมถึงต่อยอดอุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนบางรายให้ความสนใจและเริ่มสอบถามข้อมูลการลงทุนเกี่ยวกับศูนย์ซ่อมอากาศยาน

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายพัฒนาให้เป็นศูนย์ขนส่งและกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และมุกดาหาร โดยจะหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อขอเชื่อมการขนส่งทางรถไฟเข้ามาในนิคม เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ขนาด 2,200 ไร่ ในพื้นที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ขณะนี้ผ่านกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว (อีไอเอ) และอยู่ระหว่างวางแผนก่อสร้าง คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 ควบคู่กับทำการตลาดดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งเป็นนิคมแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขณะเดียวกัน ณ วันที่ 24 ส.ค. 2560 มีผู้ประกอบการจากพื้นที่ 2 กลุ่มจังหวัด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ยื่นคำขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือเอสเอ็มอี 2,497 ราย วงเงิน 4,234 ล้านบาท ขณะที่มีเอสเอ็มอีทั่วประเทศยื่นคำขอเงินช่วยเหลือ 19,157 ราย วงเงิน 35,590 ล้านบาท

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีสายการบินสนใจและสอบถามข้อมูลการลงทุนเกี่ยวกับศูนย์ซ่อมอากาศยานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีรูปแบบคล้ายท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รองรับสายการบินที่เปิดเส้นทางบินในภูมิภาคนี้จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

“เบื้องต้นมี 2 พื้นที่ที่มีศักยภาพ คือ จ.นครพนม ที่ประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งยังมีสถาบันการศึกษาเปิดสอนหลักสูตรการบินพลเรือน และจ.อุดรธานี ที่มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม มีสนามบินนานาชาติ ซึ่งตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์โลจิสติกส์ด้วย”นายวีรพงศ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ยังมีเอกชนสนใจจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพอีก 1 แห่งที่ จ.นครราชสีมา นอกเหนือจากมิตรผลที่มีแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ ที่จ.ขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม กนอ. จะนำคณะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ออกไปชี้แจงข้อมูลการลงทุน (โรดโชว์) ในประเทศเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดการลงทุนที่เน้นในอุตสาหกรรมเกษตกรแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตอาหาร และเอสเอ็มอี และแปรรูปยางพารา

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์