ยักษ์ชนยักษ์ ชิงลูกค้า “ดิจิทัล” คิกออฟ “สังคมไร้เงินสด”

เมื่อโทรศัพท์มือถือกลายเป็นทุกสิ่ง และเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ พยายามที่จะแทรกตัวเข้าไปให้บริการผ่านมือถือ

ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าในปี 2559 คนไทยทำธุรกรรมทั้งการโอนเงินและชำระเงินค่าบริการต่าง ๆ ผ่านบริการโมบายแบงกิ้งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพิ่มเป็น 20.8 ล้านบัญชี จาก 13.92 ล้านบัญชี ในสิ้นปี 2558 เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าในไม่ช้าธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือจะกลายเป็นธุรกรรมหลักของธนาคาร

“SCB” อัพสู่ไลฟ์สไตล์แบงกิ้ง

นั่นทำให้แบงก์ไทยพาณิชย์ลุกขึ้นมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มหลังบ้านใหม่หมด โดยใช้เงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท พร้อมการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “SCB EASY” โฉมใหม่เวอร์ชั่น 3.0 ก็เพื่อให้ระบบหลังบ้านมีความปลอดภัย รองรับการเติบโตของผู้ใช้งาน และเพิ่มความคล่องตัวในการพัฒนาบริการใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์และเข้าถึงไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลให้ได้ ถึงขั้นประกาศด้วยว่าจะ “เป็นทุกอย่างเพื่อคุณ” เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น “ดิจิทัลไลฟ์สไตล์แบงกิ้ง”

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” รักษาการ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับปรุงแอปพลิเคชั่น SCB EASY โฉมใหม่ในเวอร์ชั่นที่ 3 ก็เพื่อให้มีความเป็นดิจิทัลไลฟ์สไตล์แบงกิ้งมากขึ้น โดยนำความต้องการลูกค้ามาเป็นตัวตั้ง และหาเทคโนโลยีมารองรับ เนื่องจากผู้บริโภคปัจจุบันมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับสมาร์ทโฟน และมองว่าการทำธุรกรรมที่ธนาคารเป็นเรื่องน่าเบื่อ เสียเวลาเดินทางและต้องกรอกเอกสารต่าง ๆ ที่ยุ่งยาก

ถนนทุกสายมุ่งชิงลูกค้าดิจิทัล

การแปลงโฉม SCB EASY ทำตั้งแต่การออกแบบหน้าตาแอปพลิเคชั่นให้น่าใช้ มีฟีเจอร์ใหม่ เช่น Cardless ATM ให้ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้โดยไม่ต้องใช้บัตร รวมถึงให้สิทธิพิเศษ และส่วนลดโดยไม่ต้องสะสมคะแนน เมื่อมีการทำรายการ เพื่อจูงใจให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าผลักดันให้มีผู้ใช้งานแอปเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคน เป็น 8 ล้านคนในปี 2561 และเป็น 10 ล้านคนภายในปี 2563 จากลูกค้า 14 ล้านคนในปัจจุบัน

“โมบายแบงกิ้งเป็นเทรนด์ เราไม่ได้มองว่ากำลังแข่งกับแบงก์อื่น แต่ที่น่ากลัวคือ เฟซบุ๊ก, ไลน์ และกูเกิล ที่มีฐานลูกค้า 30-40 ล้านคนในมือจะมาแย่งลูกค้ากลุ่มนี้จากแบงก์มากกว่า เราจึงต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองเพื่อให้ตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของลูกค้ายุคนี้”

ไม่เฉพาะธุรกิจธนาคารเท่านั้นที่ต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล แต่ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและพัฒนาการของเทคโนโลยีได้เปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นเข้าสู่ธุรกิจการเงินดิจิทัลได้ด้วยเช่นกัน

“ทรูมันนี่” ของกลุ่มแอสเซนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ทรูมันนี่มุ่ง “ฟินไลฟ์”

“ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนต์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะปรับตัวเข้าสู่ไลฟ์สไตล์ทางการเงิน หรือ “Finlife” ด้วยการปรับปรุงแอปพลิเคชั่น “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” ให้เป็นซูเปอร์แอป (Super App) ที่เหมาะกับทุกรูปแบบการใช้ชีวิต โดยเพิ่มเติมบริการต่าง ๆ นอกเหนือไปจากการจ่ายบิล, เติมเงินมือถือ, โอนเงิน, ชำระเงินออนไลน์ และออฟไลน์ โดยในปีนี้ลูกค้าจะซื้อบริการต่าง ๆ ใน App Store, Apple Music, iTunes Store ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำได้

ไม่ใช่แค่นั้น จะมีบริการอื่น ๆ อีก เช่น โอนเงินให้ครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศ, ซื้อตั๋วเครื่องบิน, จองที่พัก, กู้ยืมและลงทุนในกองทุนต่าง ๆ รวมทั้งซื้อประกัน เป็นต้น

“บริการด้านเพย์เมนต์จะเริ่มเห็นมากขึ้นในปีนี้ ส่วนบริการกู้ยืมเงินและการซื้อประกันต่าง ๆ จะเริ่มในไตรมาส 2 ปีหน้า เรื่องวงเงินกู้ยังไม่กำหนด โดยอยู่ระหว่างการศึกษากับพาร์ตเนอร์อย่างอาลีเพย์ แต่ได้เริ่มทดลองไปแล้วกับเซเว่นอีเลฟเว่นในการปล่อยกู้ในวงเงิน 200-300 บาท แต่ต่อไปจะปล่อยกู้ในวงเงินที่มากกว่านี้ เพราะอย่างที่รู้กันว่าเงินกู้นอกระบบมีมูลค่ามากกว่าเงินกู้ในระบบ เราจึงพยายามสร้างฐานข้อมูลให้เพียงพอนำมาวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเพื่อทำเรื่องการกู้เงิน แต่ไม่ได้ไปเป็นคู่แข่งกับเเบงก์ เพราะกำลังคุยกับแบงก์เพื่อเป็นพาร์ตเนอร์กัน เป็นการเสริมในตลาดที่แบงก์เข้าไม่ถึง เช่น แบงก์ปล่อยกู้ให้เรา แล้วเราไปปล่อยรายย่อยอีกที จะช่วยแก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบให้น้อยลงได้”

ปัจจุบัน “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” มีลูกค้า 30 ล้านคน จากฐานลูกค้าประมาณ 200-300 ล้านคนจาก 6 ประเทศที่เข้าไปทำตลาด ได้แก่ ไทย, เมียนมา, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เฉพาะในไทยมีลูกค้า 6 ล้านคน เป็นแอ็กทีฟยูสเซอร์ 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านกว่าคนในปีที่ผ่านมา โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าในไทยให้ได้ถึง 30 ล้านราย และ 100 ล้านรายทั่วภูมิภาค ในแง่รายได้ปีนี้ยังไม่เน้น แต่มีการเติบโตต่อเนื่อง 10-15% ต่อปี โดยเน้นการสร้างฐานลูกค้า คาดว่าในสิ้นปีจะมีแอ็กทีฟยูสเซอร์ถึง 4 ล้านคน และเพิ่มเป็นกว่า 8 ล้านคนในปีหน้า

คิกออฟสังคมไร้เงินสด

“ยอดใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยที่ 200 บาท/ครั้ง มีการใช้งานเฉลี่ย 7 ครั้ง/เดือน โตขึ้น 3 เท่าตัวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา บริการที่ลูกค้าใช้มากที่สุดคือ 1.โอนเงิน 2.ใช้จ่ายค้าปลีก เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น และทรูคอฟฟี่ 3.เติมเงินมือถือ 4.จ่ายบนเพลย์สโตร์”

สำหรับการลงทุนของบริษัทในทุกประเทศรวมกัน คาดว่าอยู่ในหลักพันล้าน แต่เฉพาะประเทศไทยปีนี้ ประมาณ 500-600 ล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มอีกเท่าตัว เนื่องจากมีบริการกู้เงิน และยังอยู่ในช่วงขยายตัว สำหรับร้านค้าที่ใช้จ่ายผ่านทรู วอลเล็ท

“เชื่อว่าปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของสังคมไร้เงินสด เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุน เช่น มีบริการพร้อมเพย์ ขณะที่ผู้ให้บริการอื่น ๆ ก็มีบริการที่เติบโตสูงเช่นกัน ซึ่งบริษัทไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง เพราะคิดว่าคู่แข่งสำคัญคือ เงินสด โดย 80% ของทรานแซ็กชั่นยังใช้เงินสด และที่ไม่ใช่เงินสดก็จะใช้บัตรเครดิต ในภาพรวมอีวอลเลตมีคนใช้งาน 7-8 ล้านคน ดังนั้นผู้ให้บริการต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า คาดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้า คนเมือง 70-80% จะใช้อีเพย์เมนต์”

ผู้บริหาร “แอสเซนต์” ย้ำว่า ธุรกิจอีวอลเลตจะมีการแข่งขันกันใน 3 กลุ่ม 1.ธุรกิจโทรคมนาคม เช่น ทรู ก็จะมีจุดแข็งคือมีฐานลูกค้ามือถือ 2.ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะมีจุดเด่นเรื่องความเร็วและฐานลูกค้า และ 3.แบงก์ มีฐานลูกค้าแบงก์ และปัจจุบันกลุ่มแบงก์เริ่มขยับเข้าสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ซึ่งช่วยผลักดันตลาดให้เติบโต

 

ที่มา ระชาชาติธุรกิจออนไลน์