คนใต้มอง “เคี้ยวกระท่อม” วิถีชาวบ้าน

ทันทีที่คณะอนุกรรมการการกฎหมาย ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เห็นชอบผ่อนปรนให้ปลูก และเคี้ยวใบกระท่อม แบบวิถีชาวบ้านดั่งเดิมได้ ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ โดยเฉพาะคนสุราษฎร์ธานี พัทลุง และ นครศรีธรรมราช ต่างมีความรู้สึกที่ตรงกันคือ ได้มีโอกาสเคี้ยวใบกระท่อมอย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ และราคาใบกระท่อมคงจะลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่กำละ (20 ใบ) 100-200 บาท ขณะที่ในอดีตกำละ 20 บาทเท่านั้น

หากถามว่าใครบ้างที่เคี้ยวใบกระท่อมทุกวัน ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีแทบทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ ทหาร ปกครอง แรงงาน พ่อค้า และประชาชนทั่วไป

ลองมาฟังความเห็นจากสาขาอาชีพต่างๆ ว่าการผ่อนปรน “กระท่อม” จะบวก จะลบอย่างไร

รศ.ดร. รงค์ บุญสวยขวัญ นักวิชาการภาควิชารัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ผมเกิดมาก็เห็นคนเฒ่าคนแก่เคี้ยวใบกระท่อมทุกเช้า เวลามานั่งพูดคุยในวงน้ำชา ใครเก็บใบกระท่อมมาจะเอามาวาง 9-10 ใบ

กลางวงน้ำชา เคี้ยวควบคู่การกินน้ำร้อน ถามว่ากินแล้วติดหรือไม่ ผมไม่เคยได้ยินข่าวว่า คนกินใบกระท่อมแล้วก่อคดีอาชญากรรม ฆ่าใคร จี้ใคร หรือขโมยทรัพย์สินเพื่อไปซื้อกระท่อมมาเสพ และไม่เคยได้ยินข่าวว่าใครลงแดงตายเพราะกระท่อม มีแต่บ่นว่าปวดๆ เมื่อยๆ ไม่มีแรงเท่านั้น

“ผมยังมีความเชื่อมั่นว่า คนใต้เคี้ยวใบกระท่อมเพื่อเข้าวงสังคมมากกว่าที่จะเสพเป็นอาจิณ ไม่ต่างกับคนที่กินหมากพลู วันใดไม่ได้เคี้ยวหมากก็จะเปรี้ยวปาก ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคิดใหม่ เพราะการเคี้ยวใบกระท่อมเป็นวิถีชีวิตของคนใต้กลุ่มหนึ่ง เหมือนเจอหน้ากัน สิ่งแรกที่ยื่นให้คือใบกระท่อม เคี้ยวกับน้ำเย็น น้ำร้อน ขึ้นไปสถานที่ราชการก็เห็นเคี้ยวกัน ยื่นให้กัน เป็นวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา” รศ.ดร.รงค์ สรุป

ธนาชัย เกตุโรจน์ กรรมการสภาทนายความ ภาค 8 ให้ความเห็นว่า การผ่อนปรนเรื่องใบกระท่อมยังไม่มีผลทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยยาเสพติด แต่การประกาศว่าจะผ่อนปรนเฉพาะสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาวิจัยนั้น วันนี้โลกก้าวหน้าไปมากแล้ว จะต้องศึกษาวิจัยอะไรอีก ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการวิจัยพืชกระท่อมยออกมาหลายฉบับแล้ว ทำไมไม่หยิบออกมาใช้

และทำไมถึงเลือกเฉพาะสุราษฎร์ธานีเท่านั้น

ในต่างประเทศรัฐบาลสนับสนุนให้ปลูกเพื่อผลิตเป็นพืชสมุนไพร บรรจุใส่แคปซูล และคนที่เป็นชาวบ้านแท้ๆ ยังลักลอบแอบปลูกเพื่อกินกันในชุมชน ก็มีความเชื่อว่ากินแล้วเป็นกระษัย มีพลังในการทำงาน ให้เกิดความกระปี้กระเปร่า จึงบอกได้ว่า ผลที่เกิดจากใบกระท่อมมองอย่างชาวบ้านก็จะเป็นผลดี แต่หากมองแบบธุรกิจจะเป็นผลเสีย เพราะรูปแบบการเสพเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว

สมโชค โกศล อายุ 62 ปี เกษตรกรนครศรีธรรมราช บอกว่า ผมเคี้ยวใบกระท่อมมานานแล้ว เพราะเป็นพืชสมุนไพร ผู้ใช้แรงงานทุกประเภทมักนิยมเคี้ยวใบกระท่อม 1 ใบ ก่อนทำงาน อาจจะกินกาแฟหรือน้ำเย็นตาม โดยจะเคี้ยวจนใบกระท่อมเหลือแต่กาก จึงคายทิ้ง แต่หลังมีการจับกุมมากขึ้น ก็มีการโค่นทิ้ง ทำให้ราคาใบกระท่อมขายใบละ 10 บาท ถือว่าแพงมาก แต่คนที่ใช้แรงงานยังต้องกิน

“ผมกินทุกวัน วันละใบ สดชื่น กระปี้กระเปร่า ที่สำคัญคนเป็นโรคเบาหวานกินทุกวันจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง หากรัฐยอมให้ปลูกต้นละบ้าน ราคาก็จะลดลง ส่วนใครที่คิดเป็นการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ให้จับ วิถีคนนครกินกระท่อมเป็นสมุนไพรเท่านั้น มิใช่กินเป็นสารเสพติด สิ่งดีๆ มี แต่ถูกแปรเปลี่ยนไป ทำให้วิถีชาวบ้านเปลี่ยนไปด้วย” สมโชค ให้ความเห็น

เฉด เอียดนุ้ย อายุ 69 ปี ชาว อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง บอกว่า พืชกระท่อมในพัทลุงจะขึ้นเองตามธรรมชาติ ในบริเวณที่ราบลุ่ม ติดริมน้ำ หรือ หัวไร่ปลายนา ต้นกระท่อมขยายพันธุ์ง่าย มีดอกปลิวไปตามลม ก็งอกขึ้นเองได้ ทำให้ในสมัยก่อนมีต้นกระท่อมจำนวนมาก เมื่อพบว่าใบกระท่อมต้นไหนที่กินแล้วมีรสชาติถูกปาก ก็จะเก็บต้นไว้ ส่วนต้นที่ไม่ถูกปาก ก็จะโค่นทิ้งเอาเป็นไม้ฟืน หรือนำไม้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น

การกินใบกระท่อมของคนสมัยก่อนเป็นเรื่องปกติ กินเพื่อรักษาโรค เช่น ถ้ามีอาการไอ หรือเมื่อรู้สึกว่าจะเป็นไข้หวัด ก็จะเอาใบกระท่อมสดหนึ่งใบมาห่อกับน้ำตาลทราย แล้วเคี้ยวๆ รุ่งเช้ามาจะหายไอ หายหวัด ไปเลย ส่วนคนที่ต้องทำงานหนักกลางแดด การกินใบพืชกระท่อมสดวันละใบ สองใบ จะทำให้มีพลังในการทำงาน โดยเชื่อว่าจะทำให้ทำงานทน อยู่ในอากาศร้อนได้ดี โดยคนในอดีตจะกินใบสด ไม่นำไปต้มกินเหมือนตอนนี้

“พืชกระท่อมเป็นพืชสมุนไพรธรรมดาที่ใช้รักษาโรคได้ แต่ปัจจุบันกลุ่มวัยรุ่นนำมาต้มกินและผสมสารเสพติดอื่น ทำให้พืชกระท่อม เป็นผิดกฎหมายไป” ลุงเฉดแจกแจงให้ฟัง

ขณะที่ นิตย์ เย็นใส อายุ 70 ปี ชาวบ้าน ตำบลเขาเขน อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เสริมว่า ตั้งแต่อดีต ชาวใต้นิยมกินใบกระท่อม กันอย่างแพร่หลาย แทบทุกบ้าน จะปลูกต้นกระท่อมไว้อย่างน้อยบ้านละ 1-2 ต้น ทุกๆ เช้า จะเก็บใบกระท่อมใส่ รวมไว้กับหมากพลู ไว้รับแขก ใครไปใครมาที่บ้าน และร้านขายกาแฟ น้ำชา ตอนเช้า ร้านไหน ที่มีใบกระท่อม ไว้บริการด้วยแล้ว จะมีลูกค้ามาก

โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน ทำสวน ทำไร่ ต้องพกติดตัว ไปด้วย โดยเคี้ยวใบสดๆ ครั้ง 1-2 ใบ ดูดน้ำก่อนคายกากทิ้ง ดื่มน้ำบ้วนปาก หรือ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังตาม ที่เรียกว่า “หวนท่อม” ก่อนออกไปทำงาน หรือระหว่างทำงาน เพราะทำให้ รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทำงานหนักได้นาน ไม่เหน็ดเหนื่อย แม้ว่าอากาศร้อน ทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน

นอกจากนี้ ใบกระท่อมยังใช้เป็นรักษาโรคได้หลายโรค เช่น โรคบิด ปวดเมื่อยร่างกาย แก้ปวดมวนท้อง ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง และแก้อาการไอ โดยกินใบกระท่อมกับน้ำตาล 1 ช้อนชา ทำให้ลดอาการไอ ลดน้ำตาลในเลือดได้ ช่วยบรรเทาโรคเบาหวาน และความดัน

“ผมจึงเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายผ่อนปรนให้ใช้ใบกระท่อมแบบวิถีชาวบ้าน และวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่อยู่ในการควบคุม โดยเฉพาะการจำหน่ายที่นำไปเป็นส่วนผสมของยาเสพติดสูตรสี่คูณร้อยที่ผิดกฎหมาย” ตานิตย์ สรุปพร้อมแนะนำ

เป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากคนเคี้ยวใบกระท่อมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มองว่า “กระท่อม” เป็นสมุนไพร และเป็นพืชสังคม แบ่งปันกันเคี้ยวกับเพื่อนฝูงในวงน้ำชาและในการทำงาน

ที่สำคัญคนเคี้ยวใบกระท่อมไม่เคยทำร้ายใคร

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อแนะนำในการดูแลกับผู้ที่นำ “กระท่อม” ไปผสมสารต่างๆ จนทำให้คุณสมบัติด้านบวกของ “กระท่อม” กลายเป็นด้านลบไป

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน