อภ.ชูผลิตภัณฑ์ ‘ขมิ้นชัน’ ขึ้นทะเบียนยาแผนปัจจุบันจากสมุนไพรตัวแรก ลดปวดข้อเข่าเสื่อม

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า แอนติออกซ์ สารสกัดขมิ้นชันในรูปแบบแคปซูลของ อภ.ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นยาแผนปัจจุบัน ที่สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่เคยมีสมุนไพรได้รับการขึ้นทะเบียนในกลุ่มนี้มาก่อน ที่ผ่านมายาสมุนไพรจะนำมาใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยาแผนปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์นี้เป็นสมุนไพรตัวแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบันสามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันตัวอื่นที่มีสรรพคุณเช่นเดียวกันได้ คือ บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม ทั้งนี้ ควรใช้ตามแพทย์แนะนำ สตรีมีครรภ์หรือระยะให้นมบุตรไม่ควรใช้ และผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีควรระวังในการใช้ โดยสารสกัดขมิ้นชัน 1 แคปซูลจะเทียบเท่าเคอร์คูมินอยด์ 250 มิลลิกรัม

นพ.นพพรกล่าวอีกว่า  อภ.ได้ศึกษาทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของแคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน โดยการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยเปรียบเทียบกับยาต้านอักเสบไอบูโปรเฟนในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ รพ.ศิริราช จำนวน 367 คน แบบสหสถาบัน แบ่งการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับแคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน ขนาด 250 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 แคปซูล 3 ครั้งต่อวัน นาน 4 สัปดาห์ จำนวน 185 คน และกลุ่มที่ได้รับยาต้านอักเสบไอบูโปรเฟน รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน จำนวน 182 คน พบว่า แคปซูลสารสกัดขมิ้นชันมีประสิทธิผลในการลดอาการปวดข้อจากโรคข้อเข่าเสื่อมและช่วยให้การทำงานของข้อเข่าดีขึ้น ไม่แตกต่างกับการใช้ยาไอบูโบรเฟนและแคปซูลสารสกัดขมิ้นชันพบผลข้างเคียงด้านระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการปวดท้อง ท้องอืด น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาไอบูโปรเฟนอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการศึกษาทางพิษวิทยา มีการศึกษาพิษเรื้อรังในสัตว์ทดลอง พบว่าปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง

“การที่สารสกัดขมิ้นชันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบัน แปลว่าสามารถใช้เป็นยาแทนยาแผนปัจจุบันที่มีสรรพคุณเหมือนกันได้เลย คือถ้าใช้สารสกัดขมิ้นชันแล้วก็ไม่ต้องยาแผนปัจจุบันตัวอื่นควบคู่กันไปอีก ซึ่งผลการศึกษาสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ไม่แตกต่างจากยาไอบูโปรเฟนที่เป็นยาแผนปัจจุบัน และมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่า เพราะโดยสรรพคุณของขมิ้นชันปกติใช้เป็นยาแก้ท้องอืดอยู่แล้ว และ อภ.มีเป้าหมายที่จะศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อใช้ทดแทนยาแก้อักเสบ เพราะแต่ละปีประเทศไทยมีมูลค่าการใช้ยากลุ่มนี้หลายพันล้านบาท” นพ.นพพรกล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์