ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานมหกรรมรวบรวมการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต จัดโดย บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด ว่า ไม่เฉพาะประเทศไทยแต่ทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทาย 2 เรื่อง คือ การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และการได้รับผลกระทบรุนแรงจากเทคโนโลยี
ซึ่งการดูแลสังคมสูงอายุเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นใน 10-15 ปีข้างหน้า และจะสร้างภาระให้งบประมาณแผ่นดิน ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณดูแลผู้สูงอายุสูงถึง 600,000-700,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่งบประมาณของประเทศอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพออย่างแน่นอน และจะทำให้เกิดวิกฤตทางการคลังในอนาคต
ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงการคลังจึงเร่งปรับปรุงโครงสร้างในระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันรายได้เพื่อการยังชีพของผู้ชรา เพื่อเร่งส่งเสริมการออม
โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) โดยเบื้องต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตรากรอบกเงินสมทบและสะสมเงินในกบช. ไว้ที่ 3% ช่วง 3 ปีแรก และปีต่อไป 5% อัตราสูงสุดไม่เกิน 7% ซึ่งหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จ จะนำเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกครั้งก่อนที่จะประกาศใช้ในปี 2561
ทั้งนี้ ในส่วนที่จะเกิดขึ้นในปีนี้แน่นอน คือ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่จะเป็นภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบให้มีเงินออม โดยจะมีนายจ้างจ่ายสมทบเพิ่มเติม ซึ่งจะคล้ายกับประกันสังคม โดยเมื่อออมทั้ง 2 อย่างแล้ว ในวัยเกษียณจะทำให้ประชาชนมีรายได้สำหรับใช้ต่อเดือนประมาณ 50,000 บาท แบ่งเป็นเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม 7,500 บาท/เดือน และกอช. ประมาณ 40,000 บาท/เดือน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาปรับลดอัตราจ่ายเงินของกองทุนประกันสังคม เพื่อไม่ให้เป็นภาระประชาชนอีกด้วย ตลอดจนการให้ธนาคารออมสิน ออกสินเชื่อรีเวิร์ส มอร์เกจ เพื่อผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล แต่มีที่อยู่อาศัย สามารถนำบ้านมาไว้กับธนาคารแล้วเปลี่ยนเป็นเงินไว้ใช้ตลอดชีวิตหลังเกษียณ
ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ ขณะนี้หารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีประชาชนที่มีหนี้นอกระบบประมาณ 1.3 ล้านราย มูลหนี้ 70,000 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายล้างหนี้จำนวนดังกล่าวให้หมดภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดจะมีคณะอนุกรรมการฟื้นฟู พร้อมกับให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าร่วมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วย
นอกจากนี้ในส่วนของมาตรการลดภาษีด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำรายละเอียดและอัตราภาษีให้มีความเหมาะสม และการดำเนินการต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะต้องกระจายรายได้ลงสู่ภาคท้องถิ่นให้ได้
ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่จะใส่ในบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าอาทิ มาตรการรถเมล์ รถไฟฟรี เพื่อให้ทันการใช้บัตรในวันที่ 1 ต.ค. นี้
สำหรับมหกรรมรวบรวมการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ส.ค. ที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเป็นงานแรกที่ช่วยให้คนไทยหันมาตระหนักถึงเรื่องการลงทุนและการออม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ และเป็นประโยชน์ในการวางแผนการลงทุนอย่างชาญฉลาดได้