“เอนไซม์อัจฉริยะ ทูอินวัน” นวัตกรรมพัฒนาสิ่งทอ ประหยัดต้นทุน พลังงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม

“ม่อฮ่อม หรือ หม้อห้อม” มาจากภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง สีของผ้าฝ้ายย้อมสีครามอมดำ จาก “ต้นฮ่อม” ซึ่งพืชชนิดนี้ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น คนน่านเรียกพืชชนิดนี้ว่า “ฮ่อมเมือง” แม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ครามหลอย” ขณะที่คนอีสาน เรียกว่า “ต้นคราม”

โดยทั่วไป ต้นฮ่อมมีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 50-80 เซนติเมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องคล้ายขาไก่ แตกกิ่งก้านตามข้อ ลำต้นกลม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม หัวใบเรียว ท้ายใบแหลม ขอบใบหยัก ใบด้านบนสีเขียวมัน ใบแก่หรืออ่อนเมื่อถูกกดหรือทุบทิ้งไว้กลายเป็นสีดำ ดอกเป็นช่อออกตามซอกใบและกิ่ง รูปทรงคล้ายระฆัง ดอกสีม่วง เมล็ดอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล แตกง่าย

บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นับเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ชาวบ้านทุ่งโฮ้งยังคงรักษากรรมวิธีการย้อมผ้าฝ้ายแบบแบบโบราณ โดยใช้กิ่งและใบของ “ห้อม” มาหมักในหม้อตามกรรมวิธี แล้วนำมาย้อมผ้าดิบให้เป็นสีน้ำเงินหรือสีกรมท่า ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “หม้อห้อม” นั่นเอง

เสื้อหม้อห้อม เป็นสินค้าผ้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดแพร่ คนเหนือนิยมสวมใส่ผ้าหม้อห้อมกันมาก ในช่วงงานประเพณี เทศกาลทำบุญ เสื้อหม้อห้อมแต่เดิมมีรูปแบบเป็นเสื้อคอกลม ผ่าอก แขนยาวหรือแขนสั้น มีทั้งแบบที่ใช้กระดุมกลัดและที่ใช้ผ้าเย็บเป็นเชือกผูก ปัจจุบันเสื้อม่อฮ่อมได้เปลี่ยนแปลงพัฒนารูปแบบของเสื้อให้มีความสวยงามยิ่งขึ้นและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ เพราะสวมสบาย ทนทาน และราคาถูก

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นความสำคัญของ “บ้านทุ่งโฮ้ง” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตผ้าทอพื้นบ้านที่มีองค์ความรู้หลากหลาย เมื่อปี 2558 สวทช. จึงได้สนับสนุนให้ “บ้านทุ่งโฮ้ง” เป็นหมู่บ้านสิ่งทอนาโนแห่งแรกในจังหวัดแพร่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านนาโน มาทำให้ผ้าฝ้ายย้อมของบ้านทุ่งโฮ้ง มีคุณสมบัติแตกต่าง หนุ่ม ลื่น และป้องกันสีซีดจางจากแสงยูวี

โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการต่อยอดนำภูมิปัญญาดั้งเดิม มาประสานร่วมกับเทคโนโลยีนาโนพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าทอมือของชุมชน ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างโอกาสทางการตลาดได้มากขึ้นแล้ว ยังยกย่องให้ “แพร่” เป็นจังหวัดต้นแบบของการนำนาโนเทคโนโลยี ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอในท้องถิ่น เกิดเป็นธุรกิจสร้างสรรค์แล้ว ยังช่วยอนุรักษ์เอกลักษณ์ “ผ้าหม้อห้อม” ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดแพร่ไปพร้อมๆ กัน

 

สวทช. ต่อยอดพัฒนาสิ่งทอเมืองแพร่

ล่าสุดในปีนี้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดตัว “เอนไซม์เอนอีซ เอนไซม์อัจฉริยะ ทูอินวัน” ในพื้นที่อำเภอสูงเม่น และตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าทอหม้อห้อมพื้นเมือง ที่มีเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ ผู้พัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ”

เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) เป็นผลงานของ ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์และชีวเคมีภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ผลงานวิจัยดังกล่าว ถูกนำไปใช้ในกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว แทนการใช้สารเคมี 100% ในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ช่วยให้เนื้อผ้านิ่ม เหมาะสำหรับการสวมใส่

 

เอนไซม์เอ็นอีซ นวัตกรรมวิจัย ยกระดับสิ่งทอ  

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์และชีวเคมีภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์ไบโอเทค สวทช. เจ้าของผลงานวิจัยเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) “เอมไซม์อัจฉริยะ ทูอินวัน” เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และโรงงานสิ่งทอธนไพศาล ร่วมกันบูรณาการองค์ความรู้ในสหสาขาวิชาต่างๆ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ (ENZease)” ซึ่งผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดเลือกจากศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center : TBRC)

ซึ่งจุลินทรีย์นี้สามารถสร้างเอนไซม์ได้ทั้งอะไมเลส และเพกติเนส ในเวลาเดียวกันเรียกได้ว่าเป็น “เอนไซม์อัจฉริยะ” ที่สามารถทำงานได้ดีในช่วงค่าพีเอช (pH) และอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกัน คือ pH 5.5 และที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ดังนั้น จึงมีจุดเด่นคือ ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพความแข็งแรงของผ้า สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียวภายในเวลา 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนในการผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพของผ้าฝ้ายให้มีคุณภาพสูงมากกว่าที่ใช้สารเคมี

เนื่องจากเอนไซม์เอนอีซจะทำปฏิกิริยาแบบจำเพาะเจาะจง ต่างจากสารเคมีที่ทำลายเส้นใยผ้า ซึ่งจะส่งผลให้ผ้ามีความแข็งแรง น้ำหนักลดลง และเนื้อผ้านิ่ม เหมาะสมสำหรับการสวมใส่ ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับ บริษัท เอเชียสตาร์ เทรด จำกัด ซึ่งมีความชำนาญในการผลิตเอนไซม์ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตเอนไซม์เอนอีซเพื่อจำหน่ายได้มากกว่า 10 ตัน ต่อเดือน

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลงานวิจัยในการผลิตหม้อห้อม ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ได้นำผลงานดังกล่าวไปเผยแพร่ให้กับผู้ผลิตผ้าหม้อฮ่อมพื้นเมือง ณ ร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

 

เอนไซม์เอนอีซ ช่วยย้อมห้อมสีติดเสมอทั้งผืน

คุณประภาพรรณ ศรีตรัย ตันแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า หลังจากทดลองใช้เอนไซม์เอนอีซในกระบวนการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียวทั้งแบบแช่และแบบต้ม ช่วยทำให้ผ้ามีระดับการลอกแป้งและการซึมน้ำของผ้าผ่านเกณฑ์มาตรฐานและเหมาะสมต่อการนำไปย้อมสีและพิมพ์ลายได้

ต้นฮ่อม หรือ ต้นคราม ที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน

เมื่อนำผ้าผืนที่ได้จากการทดสอบด้วยเอนอีซมาผ่านกระบวนการพิมพ์ลายและย้อมสีห้อม พบว่ามีการย้อมสีห้อมติดสีสม่ำเสมอกันทั้งพื้น ดูดซึมน้ำสีได้ดีและเร็วโดยไม่ต้องออกแรงขยี้ และมีสัมผัสที่นุ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เอนอีซยังช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจฯ สามารถเพิ่มคุณภาพของผ้าฝ้ายและช่วยลดพลังงานในกระบวนการต้มด้วยผงซักฟอกลงได้ และช่วยลดเวลาในกระบวนการแช่ผ้ากับน้ำหมักจากน้ำผักผลไม้จาก 3 วัน เหลือเพียงแค่ 18 ชั่วโมงเท่านั้น

คุณชวัลณัฏฐ์ ถิ่นจอมธ์ ผู้ประกอบการร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น เปิดเผยว่า หลังจากทดลองนำเอนไซม์เอนอีซมาใช้ในการลอกแป้งและทำความสะอาดผ้าฝ้ายแล้วพบว่าลดขั้นตอนการทำความสะอาดได้มาก ใช้เวลาเพียง 1 วัน จากเดิมใช้เวลา 3 วัน และยังช่วยลดกลิ่นเหม็นของแป้งที่ติดอยู่บนผ้าได้ดีมาก นอกจากนั้นแล้ว ยังขจัดคราบสกปรกบนผ้าได้หมดจด ทำให้ผ้านิ่มขึ้นและสีของห้อมสังเคราะห์ซึมผ่านผ้าได้ดีขึ้น ช่วยให้สีย้อมติดสม่ำเสมอทั้งผืนผ้าได้เป็นอย่างดี

 

เอนไซม์เอนอีซ ช่วยลดข้อจำกัด สิ่งทอไทย

คุณปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธนไพศาล ผู้ประกอบการโรงงานสิ่งทอรายใหญ่ ในจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับต้นๆ โดยทั่วไป อุตสาหกรรมสิ่งทอมักจะใช้สารเคมีในปริมาณมากและใช้พลังงานสูงในกระบวนการผลิต ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการลอกแป้ง (Desizing) และกำจัดสิ่งสกปรก (Scouring) บนผ้าฝ้ายที่ต้องใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างอย่างรุนแรง อาทิ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และโซดาไฟ ที่สำคัญกระบวนการทั้งสองต้องทำแยกกัน เพราะมีการใช้สารเคมีในสภาวะที่แตกต่างกัน ทำให้ใช้พลังงานสูง สิ้นเปลืองเวลา และน้ำที่ใช้ในระบบ

แก้ปัญหาการย้อมห้อมสีติดสม่ำเสมอมากขึ้น

ที่ผ่านมา การประยุกต์ใช้เอนไซม์ในกระบวนการทางสิ่งทอของประเทศไทย ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะผู้ประกอบการสิ่งทอไทยต้องสั่งซื้อเอนไซม์บางชนิดมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเอนไซม์เพกติเนสนั้นมีราคาค่อนข้างแพงในท้องตลาด อีกทั้งเอนไซม์สำหรับลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าในท้องตลาด ยังขายแยกกันเพราะมีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถทำร่วมกันได้ในขั้นตอนเดียวกัน ส่งผลให้ต้นทุนในกระบวนการผลิตผ้าที่ใช้สารเคมีสูงกว่าการใช้เอนไซม์เอนอีซ ซึ่งนักวิจัยไบโอเทค สวทช. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเอนไซม์เอนอีซ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้ทั้งสองขั้นตอนในครั้งเดียว จึงช่วยประหยัดต้นทุน ลดเวลาการผลิต ประหยัดพลังงาน และช่วยรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น

 

เอนไซม์เอนอีซ ลดต้นทุน ทดแทนสารเคมี 100%  

คุณปิลันธน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการนำ “เทคโนโลยีเอนไซม์” ไปใช้ในการพัฒนากระบวนการทางสิ่งทอมากยิ่งขึ้น เช่น การนำเอนไซม์อะไมเลสสำหรับการลอกแป้ง และเอนไซม์เพกติเนสสำหรับกำจัดสิ่งสกปรก การใช้ “เอนไซม์เอนอีซ” ทดสอบภาคสนามในโรงงานสิ่งทอธนไพศาล จังหวัดสมุทรปราการ และประสบความสำเร็จอย่างมาก อาทิ กระบวนการแบบจุ่มอัดหมัก (Cold-Pad-Batch : CPB) และแบบจุ่มแช่ (Exhaustion) โดยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิมของโรงงาน และไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องจักรและสายการผลิตแต่อย่างใด

ผ้าที่ผ่านกระบวนการใช้เอนอีซ

นอกจากนี้ ผ้าที่ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงาน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการฟอกย้อมและพิมพ์ลาย ก่อนนำส่งลูกค้าของโรงงาน จากการใช้ “เอนไซม์เอนอีซ” นั้นสามารถทดแทนการใช้สารเคมีในระบบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้น้ำ ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสีย ลดขั้นตอนในกระบวนการเตรียมผ้า พลังงาน และต้นทุนการผลิตโดยรวมได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกระบวนการดั้งเดิม

 

เปิดโอกาสผู้ประกอบการเข้าถึงนวัตกรรม

สวทช. ขอเชิญชวนผู้ประกอบการสิ่งทอไทยร่วมเรียนรู้นวัตกรรม “เอนไซม์อัจฉริยะ” ในงาน สัมมนา “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีเอนไซม์” ในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 เวลา 12.30-16.30 น. ณ ห้องบอลรูม ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ค กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอนไซม์ แหล่งที่มาของเอนไซม์ ตลอดจนการประยุกต์ใช้เอนไซม์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการสิ่งทอที่มุ่งเน้นกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน ลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้สนใจสามารถเข้ารับฟังได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดได้ที่ (02) 644-8150 ต่อ 81889 (คุณอริสรา) และ 81896 (คุณนพดร) และ www.nstdaacademy.com/enz หรือ www.facebook.com/enzeasetextile