SACICT จัดกิจกรรม CraftKnowledge Exchange Program การศึกษาแลกเปลี่ยนทักษะในงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ 

 

สืบเนื่องมาจากความสำเร็จของการจัดงาน ASEAN Selection ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ต่อยอดไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม CraftKnowledge Exchange Program กิจกรรมที่ได้รวบรวมนักออกแบบจากสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัล ASEAN Selectionsและ Innovative Craft Award จำนวน 12 ท่าน มาร่วมกันเดินทางสู่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนทักษะในงานศิลปหัตถกรรม ผ่านการลงพื้นที่ในชุมชนหัตถกรรม สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ธรรมชาติและวัฒนธรรมซึ่งนับเป็นรากเหง้าของงานหัตถกรรมในแต่ละแขนง ตลอดจนการศึกษาแนวคิดในการทำการตลาดใหม่ๆ การใช้วัสดุ แนวทางการพัฒนา รวมถึงการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสวนา ทำเวิร์คช้อปและทดลองสร้างแบบจำลองชิ้นงาน เพื่อนำไปต่อยอดและเป็นแรงบันดาลใจสู่การสร้างงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ในอนาคต

 

นอกจากนี้ ยังมีการพานักออกแบบทั้ง  12  ท่าน เดินทางไปที่ จ.ปัตตานี เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักออกแบบไทยและอาเซียนกับหัตถกรรมชุมชนไทยเพื่อเป็นการต่อยอดในการก้าวไปสู่ตลาดทั่วโลก และศึกษากับ 8 ช่างชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่

1.กลุ่มเบญจเมธา เซรามิก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

2.ชุมชนจักสานไม้ไผ่ บ้านทุ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

3.ชุมชนว่าวเบอร์อามัส จ.ปัตตานี

4.ชุมชนจักสานย่านตอไห่ บ้านควน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

5.ชุมชนเครื่องปั้นดินเผา บ้านกูยังบาเดาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี

6.กลุ่มเยาวชนรักษ์กะลา อ.ปะนาเระ  จ.ปัตตานี

7.กลุ่มเยาวชนทำกริชบ้านตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา

8.ชุมชนจักสานกระจูด จ.นราธิวาส

คุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(SACICT) กล่าวในการเปิดกิจกรรม Craft Knowledge Exchange Program ที่จ.ปัตตานี ว่า สิ่งที่ SACICT เชื่อมั่นและมุ่งเน้นมาโดยตลอด คือ คุณค่าของหัตถศิลป์สามารถประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตได้เสมอ การทำงานด้านศิลปหัตถกรรมจึงต้องพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง  กิจกรรม Craft Knowledge Exchange Program ครั้งนี้ ถือเป็นการนำไอเดียจากการออกแบบร่วมสมัยโดยเหล่านักออกแบบไทยและอาเซียน มาพบกับหัตถกรรมชุมชนไทย บนความท้ายเพื่อสร้างการออกแบบที่ขยายประเพณี งานฝีมือ บรรจุองค์ความรู้เดิม เพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดเพื่อก้าวไปสู่ตลาดทั่วโลกโดยสร้างมูลค่าให้กับชุมชน ช่างฝีมือ ได้มองเห็นคุณค่าถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมเพื่อสืบทอดไม่ให้สูญหายไป ด้วยแรงบันดาลใจและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างนักออกแบบกับช่างศิลปหัตถกรรมไทย อันจะนำไปสู่การต่อยอดในการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมต่อไป

การเดินทางในครั้งนี้คณะนักออกแบบได้รับองค์ความรู้ใหม่มากมายทั้งเรื่องทักษะในงานช่างแบบดั้งเดิมรวมถึงได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยังคงความเป็นตัวตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ถึงลักษณะการทำงานหัตถกรรมที่สามารถต่อยอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ โดยการใช้ระบบการจัดการที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มมูลค่าและดูแลเรื่องคุณภาพงานของสินค้า ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนางานดีไซน์ ที่ดีไซเนอร์หรือผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จะเข้าไปทำงานร่วมกับช่างฝีมือเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าให้มีลักษณะร่วมสมัยขึ้น แต่ยังใช้วิธีการทำงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม นับว่าครบถ้วนตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่โครงการตั้งไว้ได้เป็นอย่างดีและสมบูรณ์