ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้สำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่ สำรวจ 1,229 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2560 พบว่า คาดว่าจะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 13,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ 12,711 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว คนจึงเดินทางพาครอบครัวและแม่ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด มีการใช้จ่ายตามร้านอาหารและร้านค้า อย่างไรก็ตามแม้มูลค่าเงินสะพัดจะสูงสุดตั้งแต่ทำสำรวจมาปี 2552 แต่ปีนี้ถือว่ายังไม่คึกคักนัก เพราะอัตราการขยายตัวของเงินสะพัดไม่สูง ต่ำกว่า 3% ซึ่งไม่ปกติ ต่างจากปี 2554 ที่ขยายตัวถึง 12.7% และปี 2555 ขยายตัว 5.7% แต่พอมีความกังวลทางการเมืองก็ขยายตัวน้อยกว่า 4% มาตั้งแต่ปี 2556 สะท้อนขณะนี้ประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และสอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้และปีหน้า
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 67.7% ใช้จ่ายช่วงวันแม่เพิ่มขึ้นเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นวันพิเศษ รายได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น แต่อีก 19.7% ใช้จ่ายลดลง เพราะต้องการประหยัด มีรายได้ลดลง เห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี จึงยังไม่อยากใช้เงิน และอีก 12.6% ใช้เท่ากับปีที่ผ่านมา สำหรับการใช้จ่ายเฉลี่ยในกิจกรรมยอดนิยมในวันแม่ แยกเป็นพาไม่ไปทำบุญ 1,964 บาท พาแม่ไปรับประทานอาหาร 1,876 บาท พาไปเที่ยวต่างจังหวัดแบบไม่ค้างคืน 4,531 บาท พาลูกและครอบครัวไปรับประทานอาหาร 3,652 บาท พาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดค้างคืน 9,155 บาท ส่วนของขวัญยอดนิยมที่จะมอบให้ในช่วงวันแม่ อันดับแรกคือให้เงินสด หรือทอง ให้พวงมาลัยหรือดอกไม้ เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย และเครื่องนุ่งห่มหรือรองเท้า ตามลำดับ