ชี้อีก 5 ปี ต้องการบุคลากรระบบรางไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน คมนาคมถกหน่วยงานการศึกษาเร่งผลิตด่วน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังกล่าวปาฐกถาเรื่อง “โอกาสของการยกระดับศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง” ในการประชุมผู้บริหารเครือข่ายสถาบันวิชาการระบบขนส่งทางราง เพื่อกำหนดความต้องการด้านการพัฒนาบุคลากร และองค์ความรู้ที่สำคัญ ว่า ภายใน 5 ปีหลังจากนี้โครงการรถไฟฟ้าต่างๆ จะทยอยเปิดให้บริการ ทั้งรถไฟฟ้าหลากสีในกทม. รถรางเบา รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้ไทยมีความต้องการบุคลากรระบบรางรางจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่ระดับสูง ถึงระดับปฏิบัติการ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน

ในขณะที่ปัจจุบันมีศักยภาพในการผลิตไม่มากนัก มีสถาบันการศึกษาเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถผลิตบุคลากรระบบรางได้ อาทิ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ม.มหิดล ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.หอการค้า ม.รังสิต และสถาบันอาชีวศึกษา 12 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรได้รวมทั้งสิ้นปีละ 1,000 คน เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบุคลากรด้านรางแล้ว 1 หมื่นคน ดังนั้นช่วง 4-5 ปีนี้เร่งผลิตบุคลากรให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“องค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราพัฒนาระบบรางได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งเรื่องของตัวราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการควบคุมสถานี การควบคุมรถ ดังนั้นในอนาคตจะต้องมาคิดกันว่าสถาบันไหนรับผิดชอบผลิตบุคลากรในด้านไหน และจะต้องทำเป็นโรงเรียน หรือวิทยาลัยอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งภายใน 6 เดือนคาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนว่ามากขึ้นว่าจะพัฒนากันอย่างไร และเปิดสอนในระดับใดบ้าง”

นายพิชิต กล่าวถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางครั้งนี้ จะให้ทางจีนเข้ามาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยด้วย เพราะเปนส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่รัฐบาลไทยได้กำหนดไว้ โดยเบื้องต้นจะให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และทางจีน เป็นบริษัทบริหารจัดการเดินรถ และซ่อมบำรุง ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นทางจีนก็พร้อม เพราะเป็นหน้าที่หลักที่จีนต้องทำให้ไทยสามารถเดินรถได้ และต้องซ่อมรถให้ได้ด้วย