ครม.ต่ออายุมาตรการช่วยเอสเอ็มอีปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของธพว.อีก 6 เดือน

มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ให้ธนาคารขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อฟื้นฟู เอสเอ็มอี จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสินเชื่อฟื้นฟู เอสเอ็มอี จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 วงเงิน 5,000 ล้านบาทซึ่งมีวงเงินเหลือ 3,500 ล้านบาทที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 7 สิงหาคมออกไปอีก 6 เดือนนับจากวันที่มติครม. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและภัยพิบัติทั่วประเทศให้สามารถปรับปรุง ฟื้นฟู และมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยครอบคลุมพื้นที่ประสบเหตุในปัจจุบัน รวมทั้งอาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ

นายมงคล กล่าวว่า โครงการสินเชื่อฟื้นฟู เอสเอ็มอี จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท เพื่อผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล บุคคลธรรมดา ที่จดทะเบียนกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย วงเงินกู้สูงสุดต่อรายที่ 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมตลอดโครงการไม่เกิน 7 ปี โดยปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3% และปีที่ 4-7 เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด โดย 3 ปีแรก รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารในอัตรา 3% คิดเป็นวงเงิน 450 ล้านบาท โดยวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย สามารถใช้ บสย.ค้ำประกัน

นายมงคล กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้จะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีและผู้ประสบความเดือดร้อนได้ถึง 1,000 ราย เป็นการค้ำประกันเฉลี่ยรายละ 5 ล้านบาท ทำให้เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบของธนาคาร 5,000 ล้านบาทและเกิดทุนหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 22,900 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคาร ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบ 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการพักชำระหนี้สำหรับวงเงินกู้แบบมีระยะเวลา พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนและ 2.สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการกรณีเป็นลูกค้าเดิมของธนาคารระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี หากเป็นลูกหนี้วงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท หากเป็นลูกหนี้วงเงินรวม 1-5 ล้านบาทให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1ล้านบาท และหากวงเงินกู้มากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 4.99% ต่อปี

ที่มา : มติชนออนไลน์