รบ.เยียวยาน้ำท่วม ช่วยเงิน! มอบถุงพระราชทาน อีสาน-กลาง19จว.อ่วม หลายเขื่อนเร่งระบาย กำหนดเกณฑ์ซับน้ำตา ตาย5หมื่น-บ้าน2แสน

พสกนิกรปีติ”ในหลวง” พระราชทานถุงยังชีพช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้านรัฐบาลเปิดกองทุนเยียวยาและรับบริจาคเงิน ตั้งเกณฑ์เดียวกับน้ำท่วมใต้ เสียชีวิตได้ 5 หมื่น บ้านเสียหายได้ 2.3 แสนบาท เผย”บิ๊กตู่”ไม่มีแผนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม อ้างไม่อยากให้ขรก.มาต้อนรับ ด้าน”วินธัย”โต้ที่ผ่านมารัฐบาลแจ้งเตือนพายุมาตลอด โวยอย่าลากโยงการเมือง พร้อมเหน็บครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติไม่เหมือนปี 2554 ที่บริหารผิดพลาด ปภ.สรุป 19 จว.อ่วมน้ำท่วม รมว.เกษตรฯไปสกลนครยันด้วยเตือนก่อนแล้ว ขณะที่ผบ.ตร.นำคณะรุดเยี่ยมชาวบ้านสกลนคร พร้อมเปิดโรงพักให้อาศัย และมอบถุงยังชีพ นครพนมเริ่มกระอักน้ำจากสกลนครทะลักเข้าท่วม แม่น้ำชีล้นท่วมร้อยเอ็ด เขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์น้ำเกือบเต็มต้องเร่งระบาย เตือนใต้เขื่อนจมเพิ่ม

ในหลวงทรงห่วงใย

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดสุโขทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ท.ฐิตะฐาน สุขศรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยใน อ.เมือง จ.สุโขทัย

พล.ท.ฐิตะฐาน และมูลนิธิราชประชา นุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทาน และเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนตาลัส ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดสุโขทัยตั้งแต่ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความ เสียหายแก่บ้านเรือนราษฎร พืชผลทางการเกษตรและสิ่งสาธารณประโยชน์ในตำบลปากแคว จำนวน 200 ครอบครัว และในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี จำนวน 1,800 ครอบครัว ณ โรงเรียนอุดมดารุณี อ.เมือง จ.สุโขทัย ราษฎรต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

รัฐบาลเปิดกองทุนช่วย

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้มีความรุนแรงมาก รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติดังกล่าว เรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือหรือชดเชยแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ และการเตรียมจัดรายการพิเศษเพื่อเปิดรับมอบเงินบริจาคและสิ่งของจำเป็นด้วย เบื้องต้นหลักเกณฑ์การเยียวยาจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้คือเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 50,000 บาท บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 230,000 บาทต่อหลัง

นายออมสินกล่าวว่า นอกจากนี้ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขึ้นมาอีกครั้ง ที่เรือนรับรองสปน. ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งประชาชน องค์กรและห้างร้านต่างๆ สามารถมาบริจาคเงินและสิ่งของสำหรับการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ที่ศูนย์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เปิดรับบริจาคเงินผ่านกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล เลขที่บัญชี 067-0-06895-0 แล้วเช่นกัน

บิ๊กตู่ยังไม่มีแผนลงพื้นที่

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่มีกำหนดการลงพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงนี้ เพราะคำนึงว่าหากลงพื้นที่ในช่วงนี้จะทำให้ภาคส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลนายกรัฐมนตรีและคณะ เพราะในเวลานี้เจ้าหน้าที่ควรเอากำลังและเวลาทั้งหมดไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามนายกฯ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือประชาชนให้เร็วที่สุด รวมถึงกองทัพบกที่นำโดยพล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 ที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินตรวจพื้นที่น้ำท่วม พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนตามบ้านเรือนต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

“วินธัย”ยันรัฐแจ้งเตือน

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักในบางพื้นที่จนส่งผลให้การระบายน้ำทางระบบธรรมชาติตอบสนองไม่ทันการภายในเวลาที่ต้องการจึงส่งผลกระทบต่อประชาชนว่า เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้โดยหลักธรรมชาติ ที่ผ่านมาสำหรับทุกเหตุการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ทางภาครัฐได้ดำเนินการตามแนวทางหลัก 2 ขั้นตอน คือ 1.ขั้นตอนการแจ้งเตือนและเตรียมการ กับ 2.ขั้นตอนการเผชิญสถานการณ์ ทั้งนี้ในขั้นตอนการแจ้งเตือนนั้นจะเห็นว่าทางรัฐบาล และคสช.มีการแจ้งเตือนเรื่องสภาพอากาศมาเป็นระยะว่าหลายพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจากข้อมูลที่ได้ประเมินมาตามระบบ โดยมีเป้าหมายหลัก 2 กลุ่มคือ ให้กลุ่มประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเตรียมรับมือ กับกลุ่มเจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

โวยผู้ไม่หวังดีปั่นกระแส

พ.อ.วินธัยกล่าวอีกว่า ส่วนขั้นตอน การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ เป้าหมาย เพื่อพยายามลดระดับความรุนแรงเรื่องผล กระทบที่จะเกิดกับประชาชนด้วยการระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบผ่านรูปแบบต่างๆ หากใครที่ติดตามข่าวจะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาได้ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเกรงว่าอาจมีผู้ที่ ไม่เข้าใจ หรือผู้ที่ไม่หวังดีพยายามสื่อสารคลาดเคลื่อนว่ารัฐบาล ไม่แจ้งเตือนประชาชน เพราะข้อมูลเหล่านั้นเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลที่มีเรื่องการเมืองมาผสม โดยอาศัยสถานการณ์ความทุกข์ร้อนของประชาชนมาเป็นประเด็น ซึ่งตนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่สามารถใช้วิจารณญาณพิจารณาได้จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ยันปี”54 บริหารผิดพลาด

“อุทกภัยครั้งนี้ มีความต่างกับเมื่อปี 2554 อย่างมาก เพราะในครั้งนั้นปริมาณฝนไม่ได้ตกมาในลักษณะฉับพลันแบบนี้ แต่เกิดจากปริมาณน้ำสะสมมีมากเกิน เนื่องระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับการระบาย โดยสังเกตได้ว่าช่วงนั้นขณะที่เกิดเหตุอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ ไม่ได้มีฝนตกลงมาแล้วเหมือนครั้งนี้อย่างไรก็ตามพล.อ.ประยุทธ์ให้กำลังใจและขอขอบคุณเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร รวมถึงภาคเอกชนทุกคนที่ได้ช่วยกันอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย”โฆษก คสช. กล่าว

ปภ.รายงานสถานการณ์ 19 จว.

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 5 – 29 ก.ค. ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยและน้ำไหลหลากใน 42 จังหวัด รวม 182 อำเภอ 775 ตำบล 4,064 หมู่บ้าน 1 ชุมชน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 23 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 19 จังหวัด รวม 113 อำเภอ 575 ตำบล 3,412 หมู่บ้าน แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 5 จังหวัดภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร น้ำไหลหลาก เข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ

“ฉัตรชัย”ลงพื้นที่สกลนคร

วันเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางถึง บ้านงิ้วด่อน หมู่ 1 ต.งิ้วด่อน อ.เมือง จ.สกลนคร เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำท่วมพร้อมทั้งกล่าวว่า กำชับกรมชลประทานให้ดูแลเพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมกับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากประชาชนได้รับผลกระทบก็ให้ได้น้อยที่สุด โดยจังหวัดสกลนคร เกิดฝนตกหนัก น้ำไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ 38 ตำบล 351 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 7,846 ครัวเรือน 23,538 คน กรมท่าอากาศยานได้ประกาศปิดสนามบินสกลนคร เนื่องจากน้ำท่วมทางเข้าแท็กซี่เวย์ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง โดยสาเหตุน้ำท่วมจ.สกลนคร จากอิทธิพลของพายุ เซินกา ทำให้มีปริมาณฝนตกหนัก ตั้งแต่วันที่ 26 – 28 ก.ค. 2560 รวม 3 วันมีฝนตกสะสม 275.3 ม.ม. ส่งผลให้เกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้างโดยเฉพาะเทศบาลนครสกลนคร

อัดงบขุดลอกเร่งด่วน

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า การช่วยเหลือเฉพาะหน้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 26 เครื่อง และ ติดตั้งแล้ว 4 เครื่อง การฟื้นฟูระยะเร่งด่วน การขุดลอกเพิ่มอัตราการระบาย ความจุ งบประมาณ 464.18 ล้านบาท ขุดลอกหนองหาร ปรับปรุงพนังกั้นน้ำ อาคารประกอบลำน้ำก่ำ ประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง ขุดลอกลำน้ำก่ำ เหนือ-ท้าย ประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง ขุดลอกลำน้ำสาขาลำน้ำก่ำ พร้อมอาคารประกอบ ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักอาคารระบายน้ำล้น ประตูระบายน้ำบ้านบึง ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ ขุดลอกตะกอนปากแม่น้ำ 10 แห่ง ขุดลอกขยายลำน้ำก่ำ พร้อมอาคารประกอบระยะยาว การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบระบายน้ำของลำน้ำก่ำ งบประมาณ 1,020.20 ล้านบาท

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา กรมชลประทานออกประกาศแจ้งเตือนภัย และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด หลังจากนั้นเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. เป็นต้นมา วัดปริมาณฝนสะสมได้มากถึง 245 ม.ม. ในช่วงระยะเวลา 20 ชั่วโมงทำให้มีน้ำไหลหลากลงสู่อ่างเก็บน้ำ 3.75 ล้าน ลบ.ม. จึงเกิดน้ำเอ่อล้นข้ามทำนบดิน และเกิดการกัดเซาะบริเวณสันเขื่อนขึ้น ความเสียหายการซ่อมแซมจากการตรวจสอบในเบื้องต้น มีการกัดเซาะสันเขื่อนลึก 4 ม. กว้าง 20 ม. จากความยาวสันเขื่อน 1,300 ม. ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อนเดินทางเข้าไปในพื้นที่ ตรวจสอบความเสียหายอย่างละเอียด

ผบ.ตร.ลงพื้นที่สกลนคร

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. นำคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ประกอบด้วย พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. พล.ต.ท. วิทยา ประยงค์พันธุ์ พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผู้ช่วยผบ.ตร. พล.ต.ท.นพ.วิทูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ท.เทพ อมรโสภิต ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (ผบช.สยศ.ตร.) เดินทางไปยังจ.สกลนคร โดยเครื่องบินฟอกเกอร์ กองบินตำรวจ ออกจากกองบินตำรวจท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังสนามบิน จ.นครพนม แล้วเดินทางต่อไปยัง จ.สกลนคร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

เปิดโรงพักให้อาศัยได้

พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า สั่งการให้ทุกโรงพักติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อคอยช่วยเหลือประชาชน ให้สถานีตำรวจทุกแห่งเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการห้องน้ำที่อาศัยพักพิงชั่วคราวระหว่างประสบอุทกภัย ประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถเดินขึ้นโรงพักไปบอกผู้กำกับการหัวหน้าสถานีได้เลยว่าขอพักพิงชั่วคราว สั่งการไปแล้วขณะเดียวกันกำชับคาดโทษตำรวจทุกท้องที่ให้ดูแลป้องกันอาชญากรรมอาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ หรืออาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นหลังจากน้ำลด ให้ทุกท้องที่เพิ่มความเข้มในการดูแลประชาชนและหากได้รับแจ้งว่าท้องที่ไหนละเลยไม่ใส่ใจ ก็คาดโทษไว้แล้ว วันนี้ให้จังหวัดสกลนครเปิดโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงประชาชนขณะเดียวกันก็ส่งแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ร่วมบริการประชาชนด้วย

ทบ.สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบกยังคงดำรงความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัดที่ประสบอุทกภัยโดยได้อพยพประชาชนขนย้ายสิ่งของ, การช่วยป้องกันน้ำที่ล้นทะลัก การดูแลเส้นทางสัญจรที่ถูกตัดขาด การส่งชุดแพทย์เข้าให้ความช่วยเหลือ การจัดอาหารสดและถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย ล่าสุด ในวันนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้ส่งเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ MI 17 จากศูนย์การบินทหารบก เดินทางไปสนับสนุนการคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่วิกฤต

นอกจากนี้ กองทัพภาคที่ 2 ยังส่งรถครัวสนาม ตั้งจุดบริการอาหารและน้ำดื่มบริเวณอบจ.หลังเก่า อ.เมือง สำหรับการอำนวยความสะดวกประชาชนที่ต้องเปลี่ยนจากสนามบินสกลนครมาลงที่สนามบินนครพนมนั้น กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 ได้จัดกำลังพลพร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่บริการ รับ-ส่งประชาชนไปยัง จ.สกลนคร

น้ำจากสกลฯถึงนครพนม

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ เริ่มจากจ.สกลนคร ระดับลน้ำเริ่มทะลักถึงพื้นที่ จ.นครพนม เป็นบริเวณกว้างแล้ว โดยเฉพาะที่ อ.นาแก และ อ.วังยาง มีมวลน้ำจำนวนมหาศาลจากหนองหาร และจาก อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ทะลักลงสู่ลำน้ำก่ำระบายลงสู่แม่น้ำโขงด้าน อ.ธาตุพนม ลำน้ำก่ำที่ไหลผ่าน 2 อำเภอคือ อ.นาแก อ.วังยาง ได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตรและไร่นา เสียหายแล้วกว่า 10,000 ไร่ โดยเฉพาะที่ บ.นาขาม อ.วังยาง น้ำทะลักท่วมถนนและบ้านเรือนระดับน้ำสูงร่วม 1 เมตรแล้ว คาดว่าในอีก 1-2 วันนี้ มวลน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าจาก จ.สกลนคร ทะลักผ่านลำน้ำก่ำ จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่วมสูงเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ

เขื่อนลำปาวใกล้เต็มความจุ

จ.กาฬสินธุ์ สถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เริ่มคลี่คลายลงระดับน้ำลดลงประชาชนในชุมชนวัดหอไตรปฏิการาม เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เริ่มทำความสะอาดบริเวณหน้าบ้าน หลังจากที่ปริมาณน้ำท่วมเริ่มลดลง โดยเฉพาะช่วงถนนสายอนรรฆนาค ซึ่ง 4 วันที่แล้วมีระดับน้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่สำหรับพื้นที่ด้านล่างในเขตชานเมือง ระดับน้ำยังคงทรงตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่จิตอาสาและ เจ้าหน้าที่กู้ภัย ก็ยังคงช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ต่างอำเภอกลับต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากเขื่อนลำปาว ได้รายงานความผิดปกติจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่าง เพิ่มขึ้นมากกว่า 400 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้เขื่อนลำปาวมีน้ำมากถึง 1,567 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่าง

ระบายน้ำเพิ่ม-ท่วมใต้เขื่อน

ขณะนี้กำลังประชุมเพื่อเพิ่มการระบายน้ำลงลำน้ำปาวขึ้นอีกเป็นวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. จากเดิม 15 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้พื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย และอำเภอร่องคำ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มจะเกิดภาวะน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวเพิ่มขึ้นซึ่งมีการประเมินว่าจะมากกว่า 1 แสนไร่ภายใน 2-3 วันนี้ พร้อมกำชับให้พื้นที่ท้ายน้ำทั้ง 5 อำเภอเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และการประเมินสถานการณ์ทุกๆ 3 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งข่าวเตือนทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และเตรียมอุปกรณ์ความช่วยเหลืออพยพประชาชนไปอยู่ที่ปลอดภัยและจุดพักพิงที่จัดเตรียมไว้ทันที หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สำหรับความเสียหายเบื้องต้นทั้ง 15 อำเภอมีนาข้าวถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 60,000 ไร่ และจากการประเมินว่าน่าจะเพิ่มขึ้นอีกรวมแล้ว กว่า 100,000 ไร่

บึงแก่นนครเริ่มวิกฤต

จ.ขอนแก่น พายุฤดูร้อนเซินกา ที่พัดกระหน่ำในพื้นที่ส่งผลให้หลายอำเภอมีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะ อ.เมืองขอนแก่นมีน้ำท่วมสูงประมาณ 1.20 เมตร เจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำตลอดเวลากระทั่งน้ำลดลงเหลือประมาณ 15 – 20 ซ.ม. โดยนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่าขณะ

นี้ที่บึงทุ่งสร้าง และบึงแก่นนครในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่รองรับน้ำจากชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลบ้านเป็ด พบว่ามีปริมาณน้ำมากโดยเฉพาะที่บึงแก่นนคร ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองขอนแก่น ขณะนี้มีน้ำใกล้ถึงริมตลิ่ง ทำให้ทางเทศบาลนครขอนแก่น ต้องเร่งระบายน้ำในบึงแก่นนครลงสู่บึงทุ่งสร้าง บ้านหัวถนน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพราะยังพบว่ามีน้ำจากชุมชนต่างๆ ยังคงไหลลงมา

เชียงใหม่เฝ้าระวังเต็มที่

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าเตรียมมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ สั่งการนายอำเภอ ทั้ง 25 อำเภอ รวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเครือข่ายในพื้นที่ให้เฝ้าระวังสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงที่ได้แจ้งเตือนไปแล้ว หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยเฉพาะอำเภอทางตอนบนของจังหวัด อาทิ อำเภอแม่อาย ฝาง และไชยปราการ ให้รีบแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังเตรียมการอพยพทันที พร้อมทั้งให้ติดตามสถานการณ์ ข่าวพยากรณ์อากาศ ข้อมูลข่าวสารของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง