ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และไปรษณีย์ไทย ดำเนินการพัฒนาและยกระดับร้านค้าโชห่วยและร้านค้าชุมชนให้มีบริการครบวงจรตั้งแต่ขายสินค้าหน้าร้าน ทำการค้าอี-คอมเมิร์ซ รับชำระค่าบริการต่างๆ และจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ กลายเป็นร้านสะดวกซื้อ (คอนวีเนียน สโตร์) ขนาดย่อมประจำชุมชนหรือหมู่บ้าน เบื้องต้นเรียกโครงการนี้ว่าไฮบริด โชห่วย เพื่อให้ร้านค้าที่ร่วมโครงการมีความเข้มแข็ง อยู่ได้ และสามารถเติบโตได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน
“จะเริ่มเข้าไปยกระดับร้านค้าโชห่วยและร้านค้าชุมชนในช่วงแรกให้ได้อย่างน้อย 50 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ให้เป็นต้นแบบ หากออกมาดีจะขยายผลต่อไป ขณะนี้กำลังเลือกอยู่ว่าจะเป็นร้านค้าที่ไหนบ้าง ไม่ได้กำหนดว่าร้านจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ขอเป็นร้านค้าที่มีความพร้อม โครงการนี้จะนำจุดดีของแต่ละฝ่ายมาประสานให้เกิดการยกระดับ โดยดีอีมีแพลตฟอร์มของร้านค้าออนไลน์ ซึ่งกำลังทำอยู่ เป็นระบบอี-คอมเมิร์ซแบบเบ็ดเสร็จมีตั้งแต่แคตตาล็อกสินค้าจนถึงระบบจ่ายเงิน ไปรษณีย์ไทยเข้าไปส่งเสริมด้านโลจิสติกส์ ให้ร้านค้าจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อออนไลน์ได้ ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีแผนในการพัฒนาร้านโชห่วยอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว และร้านโชห่วยเองก็มีศักยภาพเดิมที่มีที่ตั้งอยู่ในชุมชนใกล้ชิดผู้คนอยู่แล้ว ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะปรับปรุงให้โชห่วยกลายเป็นคอนวีเนียน สโตร์แบบวัน สต็อบ เซอร์วิสได้ มีตั้งแต่ขายสินค้าออฟไลน์ ออนไลน์ และรับชำระค่าน้ำ ไฟ ค่าโทรศัพท์”
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ไฮบริด โชห่วย ไม่ถึงขั้นต้องแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ๆ แต่จะเป็นช่องทางในการเชื่อมสินค้าในชุมชน สินค้าโอท็อป ให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น และเชื่อมโยงสินค้าที่มีอยู่ในต่างพื้นที่มากระจายและขายยังชุมชน เกิดเครือข่ายจุดกระจายสินค้าชุมชน ขณะเดียวกันโชห่วยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน จากบริการใหม่ๆ ที่ทำเพิ่มขึ้น เช่น รับชำระค่าบริการ ที่สำคัญร้านโชห่วยและร้านค้าในชุมชนจะเป็นจุดบริการต่างๆ ให้กับคนในพื้นที่ได้ด้วยเมื่อภาครัฐมีนโยบายต่างๆ ออกมา เช่น นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เบื้องต้นร้านโชห่วยที่จะเข้าร่วม ภาครัฐจะเข้าไปดูแลและสนับสนุนด้านฮาร์fแวร์ก่อน เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ กระทรวงดีอีเองก็กำลังเร่งวางเครือข่ายระบบอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุม ซึ่งอาศัยตรงนี้เป็นพื้นฐานให้โชห่วยสามารถทำอี-คอมเมิร์ซได้ นอกจากนี้มีเครือข่ายของร้านค้าในความดูแลของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีก 20,000 แห่ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานเช่นกันในการร่วมยกระดับร้านค้าโชห่วยและร้านค้าชุมชนต่อไป