ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กว่าสิบปีแล้วที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. มีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทุกแห่งทั่วประเทศ จัดตั้งโครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียนบริโภคอาหารอย่างถูกหลักอนามัย ถูกสุขลักษณะ และได้รับสารอาหารตามวัย ถูกต้องตามหลักโภชนาการอย่างครบถ้วน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลอนุมัติงบประมาณสนับสนุนอาหารกลางวัน เฉลี่ย 20 บาท ต่อคน
แต่ไม่ว่าจะตั้งวัตถุประสงค์ของโครงการอาหารกลางวันไว้อย่างไร หากขาดการสนับสนุนและแรงผลักดันจากครูผู้ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด โครงการอาหารกลางวันก็จะเป็นโครงการอาหารกลางวันที่มีแต่ตัวโครงการ เด็กนักเรียนยังคงกินอาหารกลางวันด้วยงบประมาณ เฉลี่ย 20 บาท ต่อคน อยู่เรื่อยไป ซึ่งแน่นอนว่า เงินจำนวน 20 บาท ต่อคน ไม่สามารถผลิตอาหารกลางวันได้มีโภชนาการเพียงพอต่อความต้องการของเด็กนักเรียนที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต
จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง การคมนาคมและขนส่งไม่สะดวก ทำให้เด็กนักเรียนในหลายโรงเรียนจำนวนหนึ่ง ต้องพักค้างที่โรงเรียนตลอดปีการศึกษา เพราะไม่สามารถเดินทางไปกลับบ้านและโรงเรียนในวันเดียวกันได้
อำเภอปางมะผ้า เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเป็นอำเภอที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน และโรงเรียนบ้านวนาหลวง ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า ก็เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีนักเรียนมีภูมิลำเนาเป็นชนเผ่า การเดินทางไปกลับบ้านและโรงเรียนค่อนข้างลำบาก ทำให้นักเรียน จำนวน 1 ใน 3 ต้องพักค้างที่โรงเรียนตลอดปีการศึกษา
การพักค้างที่โรงเรียน หมายถึงนักเรียนต้องได้รับการดูแลในเรื่องของอาหารครบ 3 มื้อ ในขณะที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณตามโครงการอาหารกลางวันเพียงมื้อเดียว
เด็กหญิงอรพิน เลิศสินชัยสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ต้องนอนพักค้างที่โรงเรียนตลอดปีการศึกษา ทุก 6 โมงเช้า หลังปฏิบัติภารกิจส่วนตัวแล้ว เธอจะไปยังโรงครัวของโรงเรียน เพื่อเตรียมทำอาหารเช้าสำหรับตนเอง เพื่อน และน้องๆ อีกประมาณ 70 คน เมนูแต่ละวันก็ขึ้นอยู่กับว่ามีวัตถุดิบอะไรที่หยิบฉวยได้ในพื้นที่ใกล้โรงเรียน ที่ง่ายและบ่อยก็เป็น ผัดผักบุ้งไฟแดง กับ ข้าวสวยร้อนๆ ก่อนได้เวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ
วัตถุดิบที่ใกล้โรงเรียน หมายถึงแปลงผักที่ปลูกขึ้นภายในโรงเรียน ด้วยฝีมือของเด็กนักเรียนในโรงเรียนเอง เมื่อเป็นฝีมือการปลูก การดูแลของเด็ก เชื่อแน่ได้ว่าต้องปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตแน่นอน
ครูกัญญา สมบูรณ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านวนาหลวง เล่าว่า แปลงผักที่มีอยู่ ได้รับการสนับสนุนเบื้องต้นจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ให้ทำโครงการสวนเกษตรอินทรีย์ เพื่อปลูกพืชผักอินทรีย์ปลอดสาร สำหรับการบริโภคภายในโรงเรียนของนักเรียนและครูในทุกมื้ออาหาร ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้เยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีความมั่นคงทางอาหาร โดยการรับประทานผักอินทรีย์ปลอดสาร
“เมื่อเราปลูกผักปลอดสารพิษ ก็หมายความว่า เราได้สร้างโอกาสความมั่นคงทางอาหารและมีความหวังในการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจที่มั่นคงให้กับเด็กๆ” ครูกัญญา กล่าว
ปี 2556 เป็นปีที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการ ครูกัญญาจึงเป็นแกนหลักในการทำสวนผักปลอดสาร ลงมือปลูกผักหมุนเวียนหลายชนิด เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชี ต้นหอม การทำสวนผักปลอดสารในครั้งนี้ เสมือนการปลูกชีวิตให้กับพื้นที่ที่เคยปล่อยให้รกร้างของโรงเรียนกว่า 13 ไร่ กลับมาสดใสและมีสีสัน
โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ครูกัญญา จึงให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของสวนผักร่วมกัน โดยจัดตารางกิจกรรมหลังเวลาเรียนในภาคบ่าย ให้นักเรียนเข้ามาช่วยดูแลแปลงผัก ซึ่งเด็กทุกคนรู้ดีว่า ผักทุกต้นในแปลง เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาจะเป็นอาหารสดที่ดีสำหรับพวกเขา และในทุกวัน เด็กนักเรียนชายจะมีหน้าที่ปรับหน้าดินแปลงผักปลอดสาร เพื่อเตรียมดินในชั่วโมงกิจกรรมหลังเลิกเรียนในเวลาบ่ายสองโมง ส่วนเด็กนักเรียนหญิงจะทำหน้าที่ดูแลแปลงผักให้ปราศจากวัชพืชและแมลงรบกวน รวมถึงการรดน้ำที่เป็นหน้าที่สำคัญของเด็กทุกคนในการสลับสับเปลี่ยนกัน
ครูกัญญา เล่าว่า ช่วงแรกของการทำสวนผัก ผักที่ปลูกเจริญเติบโตดีในช่วงฤดูฝน เมื่อเข้าฤดูแล้ง น้ำมีไม่เพียงพอ ก็ต้องปล่อยพื้นที่ให้ว่างลงตามเดิม แล้วนำงบประมาณที่พอมีอย่างจำกัดมาซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารแทน เมื่อประสบปัญหาจึงคิดปรับปรุงระบบน้ำให้สามารถปลูกผักได้ตลอดปี เพื่อให้ได้ผักสด สะอาด ปลอดภัย ไว้รับประทานเอง ซึ่งไม่นานก็สามารถแก้ปัญหาและจัดการเรื่องระบบน้ำ ทำให้มีน้ำใช้รดน้ำผักในแปลงไว้ได้ตลอดปี
“ครูและเด็กทุกคน มาช่วยกันคิดว่า เราจะปลูกผักปลอดสารไว้กินอย่างเดียวคงไม่ได้ เราควรมองถึงความยั่งยืนของการสร้างวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า ควรปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบยกพื้น ซึ่งนอกจากจะมีผักไว้รับประทานแล้ว ยังเป็นความรู้นอกห้องเรียนในการปลูกผักอีกแบบ อีกทั้งยังสามารถนำไปขายได้ราคาดีอีกด้วย”
เสียงครูกัญญา บอกกับเด็กนักเรียนว่า ให้นักเรียนลองหยิบต้นกล้าเหล่านี้ขึ้นมาและเช็กว่ารากสีซีดหรือไม่ หยิบด้วยความระมัดระวังและเบามือที่สุด สิ่งที่นักเรียนควรได้เรียนรู้คือ ต้นกล้าผักเราเหล่านี้ราคา 15 บาท ถ้าเราดูแลดี ต้นผักเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นกิโลละ 150 บาท ภายในเวลาไม่กี่เดือน
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จัดเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนที่นักเรียนมีความตื่นตัวมาก การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ อย่าง เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค ไอซ์เบิร์ก สลัดแก้ว นอกจากจะสร้างสีสันแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับโรงเรียน โดยทุกรอบการเก็บผักจะมีพ่อค้าจากตัวเมืองมารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 150 บาท และเงินจำนวนนี้ถูกผันไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อเนื้อสัตว์มาประกอบอาหาร
ด้านหลังโรงเรียนมีเล้าไก่ และคอกหมู รายได้จากการขายผักสลัด ไข่ไก่ และเนื้อสัตว์ ทางสหกรณ์โรงเรียนจะนำมาบริหารจัดการเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับซื้อเมล็ดพันธุ์ผักไฮโดรโปนิกส์ และสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ของโรงเรียน
ปัจจุบัน สวนผสมที่โรงเรียนบ้านวนาหลวง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักไฮโดรโปนิกส์ และไก่ไข่ ทำให้โรงเรียนมีรายได้หมุนเวียนเพียงพอต่อการดูแลทั้งด้านการเรียนและโภชนาการของเด็กนักเรียน และคุณครูกว่า 300 ชีวิต
นอกจากนี้ ครูกัญญา ผู้ซึ่งได้รับรางวัลยอดครูผู้มีอุดมการณ์ ตามโครงการตามรอยเกียรติครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู ปี 2558 เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นทุนในการปลูกต้นกาแฟในพื้นที่ที่เหลือของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะ รวมทั้งมีรายได้จากการจำหน่ายกาแฟเมื่อกาแฟให้ผลผลิต
ครูกัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า แรงบันดาลใจทั้งหมดที่ทำโครงการเกษตรสวนผสมในโรงเรียน มาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งหากลงมือทำ จะเห็นผลกับตนเองว่า ปรัชญาของพระองค์ทำได้จริง สร้างชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับโรงเรียนและชุมชนรอบข้างอย่างยั่งยืน