ความต่างระหว่าง ข้าวไทย กับ ข้าวญี่ปุ่น

ปัจจุบันในโลกเรา มีการบริโภคข้าวเพียง 2 ชนิด คือ ชนิดอินดิก้า (Indica Type) เป็นข้าวเมล็ดยาว อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ชนิดจาโปนิก้า (Japonica Type) เป็นข้าวเมล็ดสั้น

ข้าวอินดิก้า มีเมล็ดเรียว ยาว ปลูกและบริโภคในเขตร้อนชื้น มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ระบุว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอัสสัม-ยูนนาน รอยต่อระหว่างจีนกับอินเดีย ลักษณะเด่นของข้าวชนิดนี้ มีใบสีเขียวซีด โค้งโน้มต่ำลง ไม่ตั้งตรง ลำต้นสูง และเป็นชนิดที่ตอบสนองต่อช่วงแสง คือจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว ที่เวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน ส่วนใหญ่จัดอยู่ในชนิดอินดิก้า ส่วน ข้าวจาโปนิก้า ปลูกอยู่ในญี่ปุ่น จีนตอนเหนือ ไต้หวัน และเกาหลี ลักษณะเด่นของข้าวชนิดนี้ มีเมล็ดป้อม สั้น ค่อนข้างกลม เมื่อหุงต้มแล้วไม่มีกลิ่น เกาะตัวกันคล้ายข้าวเหนียว ลำต้นเตี้ย ใบตั้ง แตกกอดี ไม่ตอบสนองต่อช่วงแสง แต่จะตอบสนองต่ออุณหภูมิ ตัวอย่าง เมื่อนำข้าวชนิดดังกล่าวมาปลูกที่สถานีทดลองข้าวบางเขน เขตจตุจักร ซึ่งมีอากาศร้อนกว่าที่ญี่ปุ่น ปลูกไปได้เพียง 45 วัน ข้าวก็จะออกดอก หากต้องการปลูกให้ได้ผลดี ต้องนำไปปลูกที่ภาคเหนือของไทย ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น

%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b8%8d%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%9b%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%99-3-728x546
ข้าวญี่ปุ่น มีลักษณะเมล็ดสั้น ป้อม หุงต้มแล้วเกาะติดกันคล้ายข้าวเหนียว

%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b8%8d%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%9b%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%99-2
ข้าวไทยมีเมล็ดเรียว ยาว หุงต้มแล้วร่วนไม่เกาะติดกัน ยกเว้นพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และส่วนใหญ่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

โดยธรรมชาติแล้ว ในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็น ผลผลิตของพืชหรือต้นไม้จะสูงกว่าพืชในเขตร้อน ด้วยในเขตหนาวอุณหภูมิกลางคืนกับกลางวันแตกต่างกันหลายองศาเซลเซียส อีกทั้งบางช่วงพระอาทิตย์ขึ้นตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา ทำให้เวลากลางวันค่อนข้างยาวนาน ช่วยให้ขบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การสะสมแป้งและน้ำตาลจึงมีมาก ในขณะที่เวลากลางคืนมีอากาศเย็น ขบวนการหายใจที่ต้องดึงเอาแป้งและน้ำตาลไปเผาไหม้ ในระดับต่ำกว่าพืชในเขตร้อนที่มีอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนแทบไม่ต่างกัน ดังนั้น ปริมาณแป้งและน้ำตาลที่ได้จากขบวนการสังเคราะห์แสงที่ส่งไปเก็บยังผล ลำต้น หรือที่หัวของพืชในเขตหนาว จึงมีมากกว่าพืชในเขตร้อน ตามที่กล่าวมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าญี่ปุ่นมีความสามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณต่อพื้นที่สูงมากก็ตาม แต่ญี่ปุ่นก็ปลูกข้าวได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น