ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เอกชนโวย ประกาศคุมเข้มส่งออกสินค้ากึ่งอาวุธ DUI ปฏิบัติยากมาก ต้องรู้ข้อมูลถึงผู้ใช้ปลายทาง-เส้นทางการไหลของเงิน แถมบังคับผู้ผลิตต้องได้มาตรฐาน ICP ซึ่งในไทยวันนี้มีเพียงบริษัทลูกของญี่ปุ่นที่ทำได้ หากไม่ผ่านมาตรฐานจะมีต้นทุนค่าตรวจสอบ ICP สูงสุด 50,000 บาทต่อครั้ง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2561 ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการกำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง (Dual Use Items : DUI) จะมีผลบังคับใช้ โดยประกาศฉบับนี้ ครอบคลุมสินค้าที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออก 73,583 รายการ โดยกำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ของกรมการค้าต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าและวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้อาจจะถูกนำไปใช้ในการผลิต/ประกอบ/เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำไปใช้ทำอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction หรือ WMD) จึงจำเป็นต้องควบคุมสินค้า DUI ตามที่ รัฐบาลไทยได้ลงนามผูกพันไว้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในข้อมติ UNSCR ที่กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ต้องออกมาตรการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธ WMD ทั้งนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวจะถูกบังคับใช้จนกว่าร่าง พ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Trade Control on Weapons of Mass Destruction Related Items Act หรือร่าง พ.ร.บ. TCWMD จะมีผลบังคับใช้ต่อไป
ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามภาคเอกชนหลายสมาคม ปรากฏว่ายังไม่ค่อยทราบรายละเอียดของการบังคับใช้ โดยเบื้องต้นประกาศฉบับนี้มีเนื้อหาเพียง 2 แผ่นที่ระบุให้ผู้ส่งออกต้องขออนุญาต และหากเป็นสินค้าตามบัญชีแนบท้าย 2 บัญชีจะต้องขึ้นทะเบียนรับรองตนเองที่กรมการค้าต่างประเทศ และให้การรับรองต่อกรมว่าไม่เป็นสินค้า DUI ส่วนเนื้อหาที่เหลือในประกาศเป็นบัญชีแนบท้าย 2 บัญชีรวม 604 แผ่น โดยมีข้อน่าสังเกตว่า ในตัวประกาศยังไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจว่าคงใช้หลักการเดียวกับตัวร่าง พ.ร.บ. TCWMD ที่กำลังจะออก ซึ่งผลคือทำให้ขั้นตอนการตรวจสอบยุ่งยากซับซ้อนและมีต้นทุนค่าตรวจสอบเพิ่มขึ้น
แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกรายหนึ่ง กล่าวว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีข้อมูล “สินค้าที่ผลิตเป็นอะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง” เพื่อป้องกันการนำสินค้านั้น ๆ นำไปผลิตเป็นกึ่งอาวุธ และต้องรู้ว่าจะส่งออกไปขายที่ไหน ใครเป็นดีลเลอร์ และต้องรู้ด้วยว่า ผู้ใช้ปลายทาง (End User) คือใครบ้าง “ทั้งหมดนี้ต้องระบุได้หมด” และที่สำคัญต้องทราบเส้นทางการไหลของเงินด้วย เพราะต่อไปจะมีกฎหมาย TCWMD และยังมีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. …ที่ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังอยู่ระหว่างการยกร่างอีกฉบับ ซึ่งจะครอบคลุมกิจกรรมสนับสนุนทางการเงินสินค้า WMD ด้วย
“หากในกรณีที่มีการซื้อขายเกิดขึ้น แล้วคนซื้อเป็นชื่อหนึ่ง และคนโอนเงินเป็นอีกคนหนึ่ง เงินมาจากประเทศที่ติดอยู่ในลิสต์ของประเทศที่ยูเอ็นแซงก์ชั่น สมมุติ เช่น อิหร่าน ต้องมีการตรวจสอบต่อไปว่ามีการฟอกเงินหรือมีความเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น เบื้องต้นในประกาศฯกลับไม่ระบุค่าใช้จ่าย แต่เอกชนเข้าใจว่า จะใช้อัตราเดียวกับในร่างกฎหมายใหม่ TCWMD ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยและอัตราค่าใช้จ่ายสูง (ตามตาราง) กล่าวคือ ในระบบใบอนุญาตสินค้าเข้าข่ายอยู่ในบัญชีที่ 2 แต่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายเป็นสินค้า DUI ที่กำหนดให้รับรองตนเอง (e-Self Certification) ก่อนส่งออกผ่านระบบ e-TCWMD นั้นจะมีอายุ 1 ปี แต่กำหนดให้ใช้ 1 HS Code ต่อ 1 End User หรือหากสินค้าเข้าข่ายอยู่ในบัญชีที่ 2 และมีคุณสมบัติเป็นสินค้า DUI ต้องขออนุญาต e-Licensing ก่อนการส่งออกสินค้าในระบบ e-TCWMD จะต้องขอเป็นราย Shipment โดย 1 ใบอนุญาต ต่อ 5 พิกัดสินค้า ต่อ 1 End User
“ที่สำคัญกรมพยายามขอให้เอกชนเพิ่มระบบงานควบคุมสินค้าที่ใช้ได้ 2 ทางภายในบริษัท ตามระบบ Internal Compliance Program : ICP แต่ปัญหาคือ ระบบนี้มีความยุ่งยากซับซ้อน คล้ายกับการทำมาตรฐาน ISO แต่ยากกว่า ในไทยมีแต่บริษัทลูกของญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำอยู่ ส่วนบริษัทไทยไม่นิยมทำ เพราะต้องตั้งแผนกใหม่ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง เพื่อมาดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ จึงถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นขององค์กร แต่กรมจูงใจว่า ถ้าบริษัทไม่มีระบบ ICP ต้องขออนุญาตเป็นราย Shipment ครั้งละ 50,000 บาท ทุกครั้งที่มีการส่งออกสำหรับสินค้าที่เป็น DUI แต่หากมีระบบ ICP จะให้ขออนุญาตเป็นรายปีได้”
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ส่งออก “มั่ว” รับรองตัวเองว่า สินค้าไม่ใช่ DUI เพื่อให้ส่งออกไปได้ แต่ในภายหลังกรมศุลกากรสุ่มตรวจสอบแล้วพบว่ามีการรับรองตัวเองแบบไม่ถูกต้อง ผู้ส่งออกจะมีความผิด ก็จะถูกยึดสินค้าและเสียค่าปรับ4 เท่าของมูลค่าสินค้า
“แม้ไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ หากมีการใช้ระบบดังกล่าว และสามารถทำให้ประเทศไทยทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าที่เป็น DUI ได้ตามพันธสัญญา แต่ขอให้กรมช่วยออกแบบระบบให้ใช้งานได้ง่าย ๆ และไม่ซับซ้อน โดยที่ผู้ประกอบการทั่วไปสามารถใช้งานได้สะดวก นอกจากนี้ขอให้กรมออกระเบียบ วิธีปฏิบัติสำหรับกฎหมายดังกล่าวให้มีความชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้รวดเร็วและถูกต้อง”
ล่าสุดทางกรมการค้าต่างประเทศได้แจ้งกับเอกชนว่า อาจจะบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ล่าช้าออกไปอีก 6 เดือน จากที่กำหนดไว้วันที่ 1 มกราคม 2560 เนื่องจากปัจจุบันระบบของกรมยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นการขอขึ้นทะเบียนยังไม่สามารถดำเนินการได้