พิษพ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว กระทบภาคเกษตร 2.5 พันล้าน

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ต่อภาคเกษตรไทยเบื้องต้นของศูนย์ฯ พบว่า แรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบ หรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนทั้งระบบ มีประมาณ 1 ล้านราย ในจำนวนนี้มีแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตร (เกษตร ปศุสัตว์ และประมง) ที่อยู่นอกระบบ ประมาณ 17% หรือคิดเป็นจำนวน 1.7 แสนราย

ดังนั้นการผ่อนผันหลังประกาศพ.ร.บ.แรงงานต่างด้าวฯ ออกไป 6 เดือน ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบเดินทางกลับประเทศ หรือ ย้ายกลับถิ่นฐานเดิมของตนเอง ศูนย์ประเมินผลกระทบไว้ 3 กรณี คือ 1. แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบหายไป 5% หรือคิดเป็น 8,500 ราย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืช จำนวน 434.31 ล้านบาท รองลงมา คือ สาขาประมง 244.80 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 174.42 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 853.53 ล้านบาท

2.แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรหายไป 10% หรือ 17,000 ราย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืช จำนวน 868.62 ล้านบาท รองลงมา คือ สาขาประมง 489.60 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 348.84 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่า 1,707.06 ล้านบาท 3. แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรหายไป 15% หรือ 25,500 ราย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืชจำนวน 1,302.93 ล้านบาท สาขาประมง 734.40 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 523.26 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,560.59 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตร จะมีโอกาสหายไปมากสุดถึง 15% หรือคิดเป็นจำนวน 25,500 ราย แต่สศก. ประเมินว่าจะไม่กระทบต่อภาคการเกษตรมากนัก เพราะเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าว จะเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นเท่านั้น เมื่อแรงงานต่างด้าวได้กลับไปทำเอกสารที่ประเทศตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็น่าจะกลับมายังประเทศไทยเพื่อทำงานตามปกติ นอกจากนี้ สศก. ยังเชื่อว่า ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อประเทศไทยมากกว่า โดยเฉพาะการมีแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง สามารถทดแทนแรงงานในประเทศที่ลดลงเรื่อยๆ ตามการเข้าสู่สังคมผู้อายุ รวมทั้งน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกต้อง ซึ่งในปีหน้า เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐ น่าจะเห็นความพยายามของรัฐบาลไทยปรับอันดับรายงานการค้ามนุษย์ (ทิป รีพอร์ต) จากเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ (เฝ้าระวัง) มาอยู่ที่เทียร์ 2 ได้”

นายภูมิศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ สศก. มีข้อเสนอแนะฝากไปยังรัฐบาล ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1. ปรับลดบทลงโทษพ.ร.บ.ดังกล่าวลง เพื่อสร้างความนุ่มนวล จูงใจให้แรงงานต่างด้าวเข้าสูงระบบมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนขยายระยะเวลาการนำ พ.ร.บ.ดังกล่าว มาใช้เนื่องจากบทลงโทษค่อนข้างรุนแรงและกะทันหัน เกิดปัญหาการปรับตัวไม่ทัน ส่งผลกระทบผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการที่ทำการเกษตรโดยการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย

2. ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน ลดความซับซ้อน ยุ่งยากเพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานมีความสะดวกมากขึ้น อาทิ การให้บริการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (วันสต็อปเซอร์วิส) และควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นและเร่งรัดให้นายจ้าง ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายได้ทันระยะเวลาที่ภาครัฐพิจารณาขยายให้

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์