ธุรกิจดิ้นแก้ปมแรงงานขาด โยกคน-จ้างนศ.พาร์ตไทม์

บริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวงานล้นมือ โรงงาน-ก่อสร้าง-ร้านอาหาร ยันแม่บ้าน รุมใช้บริการเพียบ เผยคนงานเมียนมา-กัมพูชาที่กลับประเทศไปมีทางเลือก บริษัทรุมตอม ทำเอ็มโอยูกับรัฐบาล ส่งไปทำงานญี่ปุ่น-เกาหลี รายที่สมัครใจจะกลับมาทำงานในไทยคาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน “อิตัลไทย” ใช้วิธีโยกคนงานจากไซต์แล้วไปช่วย ด้านร้านอาหารเร่งหานักศึกษาทำพาร์ตไทม์แก้คนขาด

การใช้ยาแรง ด้วยการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีบทลงโทษที่หนักและรุนแรง ซึ่งส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างไม่ถูกต้อง และแรงงานเถื่อนจำนวนมาก ต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อไปตั้งหลักใหม่ และอีกด้านหนึ่งก็กระทบธุรกิจเนื่องจากขาดแรงงาน โดยเฉพาะธุรกิจประมงและแปรรูป ก่อสร้าง โรงงาน การเกษตร ที่ขณะนี้ต้องเร่งนำแรงงานเข้ามาใหม่เพื่อทดแทนแรงงานที่กลับประเทศไป โดยใช้บริการของบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่มีอยู่ 81 บริษัททั่วประเทศ

“บริษัทนำเข้า” งานล้นมือ

นายประมวล กุสุมาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จ๊อบ ดินเตอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากความต้องการแรงงานต่างด้าวที่มีมากขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลให้บริษัทนำเข้าแทบทุกแห่งมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจหลาย ๆ อย่างที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวติดต่อเข้ามาและให้หาแรงงานต่างด้าวให้ เช่น โรงงานแปรรูปพลาสติกที่ให้บริษัทหาคนงานให้ ต้องการแรงงานต่างด้าว 100-200 คน เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปการจะหาแรงงานจากเมียนมา หรือกัมพูชา อาจทำได้ยากขึ้น เพราะแรงงานที่กลับประเทศไปส่วนหนึ่งจะมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ญี่ปุ่น เกาหลี ได้เข้าไปทำเอ็มโอยูกับรัฐบาลเมียนมา และกัมพูชา เพื่อจะส่งไปทำงานในประเทศของตน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ช่วยซัพพอร์ตทั้งการฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายการเดินทาง และที่สำคัญค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงกว่าบ้านเรา หรือคนที่กลับไปแล้ว การที่เขาจะกลับเข้ามาทำงานในไทยอีก ก็จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง” นายประมวลกล่าว

ขณะที่ นายพงศกร ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส จำกัด กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้ปริมาณงานของบริษัทมีมากขึ้น โดยเฉพาะงานเรื่องการทำเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการขอให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ตั้งแต่งานแม่บ้าน ร้านอาหาร โรงงาน ตลอดจนบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และแต่ละรายมีความต้องการมากน้อยที่แตกต่างกันไป ซึ่งบริษัทเน้นการนำเข้าแรงงานในภาคการก่อสร้างเป็นหลัก

“การตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวที่กรมการจัดหางานตั้งขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และหลาย ๆ จังหวัด จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างด้าวได้ แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะสามารถทำเอกสารได้รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยจะใช้เวลา 2-3 เดือน”

ด้านนายสุชิน พึ่งประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ กรุ๊ปเซเว่น เซอร์วิส จำกัด แสดงความเห็นว่า แม้ว่าบริษัทนำเข้าจะมีธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าวติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แต่กฎหมายใหม่ทำให้บริษัทนำเข้ามีภาระหรือต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมาตรา 28 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของต่างด้าว กำหนดให้ผู้ขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ต้องวางหลักประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท เพื่อประกันความเสียหาย

ดังนั้นบริษัทรายเล็กจะมีภาระต้นทุน ขณะเดียวกันก็มีภาระเพิ่มขึ้นเช่น ต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างทุกเดือน

อิตัลไทยโยกคนงานแก้

นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนมากขึ้น เนื่องจากมีงานมาก ทั้งโครงการระดับกลางถึงโครงการใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2

ต้องการจะใช้แรงงานอีก 300-400 คน และอาจจะทำให้การก่อสร้างล่าช้าบ้าง จึงแก้ปัญหาโดยโยกคนจากไซต์ที่เสร็จแล้ว เช่น สีน้ำเงินต่อขยายไปไซต์สายสีส้ม หรือสุวรรณภูมิแทน นอกจากนี้จะรับสมัครแรงงานไทยเพิ่ม และนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่ม จากปัจจุบันใช้ทั้งเมียนมา ลาว เขมร 3,000-4,000 คน

ร้านอาหารใช้ น.ศ.พาร์ตไทม์

นางลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบมาก เพราะใช้แรงงานต่างด้าวกว่า 70% ของแรงงานทั้งหมด แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 20% จึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหาแรงงานพาร์ตไทม์เข้ามาทดแทน ทั้งเปิดรับนักศึกษาเข้ามาทำงานและติดต่อหาพนักงานผ่านกรมการจัดหางาน ส่วนระยะยาว สมาคมจะเป็นสื่อกลางที่จะจัดหาแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น

นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขนข้าวขาดขณะนี้ บริษัทผู้ส่งออกข้าวส่วนใหญ่ประสานบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวขอนำแรงงานเพิ่มและทดแทน แต่ยังไม่สามารถแทนแรงงานที่กลับไปได้ทั้ง 100% รอแรงงานกลุ่มที่ออกไปทำเอกสารกลับมา

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันภาคเกษตรไทยยังใช้แรงงานเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทยอยปรับตัวหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานบ้างแล้ว แต่คนที่ทำงานในภาคการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว หากขาดแรงงานจะมีผลต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต สินค้า ซึ่งผู้ผลิตกังวลมาก ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

จับตากระทบเศรษฐกิจ

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวถึงผลกระทบจาก พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานแรงงานของคนต่างด้าว ต่อบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ว่า หลัก ๆ มี 2 ส่วน คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและภาวะการผลิตที่อาจเกิดการชะงักจากการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะหมายถึงการส่งมอบสินค้าที่อาจทำไม่ได้ และหลัก ๆ จะกระทบกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มอสังหาฯ และกลุ่มเกษตร-อาหาร อย่างไรก็ตาม แม้ระยะสั้นอาจมี บจ.ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้บ้าง แต่คาดว่าจะไม่ถึงขั้นต้องปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิ บจ.ปีนี้ที่คาดไว้ระดับ 9.9 แสนล้านบาท เพราะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบนั้นส่วนใหญ่มีน้ำหนักต่อกำไรรวมของ บจ.ค่อนข้างน้อย ประกอบกับที่ผ่านมาหลายแห่งได้ปรับตัว เช่น การไปขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง และใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น

“การขาดแรงงานที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อโครงการเร่งลงทุนของภาครัฐ โครงการก่อสร้างของภาครัฐอาจล่าช้าออกไป รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจก็อาจล่าช้าไปด้วย”

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ราว 4 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของแรงงานในประเทศไทยที่มีเกือบ 40 ล้านคน การขาดแคลนแรงงานดังกล่าวอาจกระทบถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงอนาคตข้างหน้าได้ โดยเฉพาะหากครบกำหนด 180 วันแล้วแรงงานต่างด้าวกลับมาไม่ครบ สิ่งที่กังวลจากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ลดลงอาจฉุดให้กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัวตามไปด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเราพึ่งแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ส่งเงินกลับไปประเทศเขาทั้งหมด แต่บางส่วนก็นำมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยด้วย

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์