ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 15 กรกฎาคม นายสมจิต งุ่ยไก่ แกนนำเกษตรกรชาวไร่สับปะรด ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตสับปะรด เอ็ม ดี 2 หรือ “สยามโกลด์” สำหรับรับประทานผลสด ยังไม่มีตลาดรับซื้อ เกษตรกรบางรายต้องปล่อยให้ผลผลิตเน่าคาไร่ หลังจากทางราชการจัดซื้อหน่อพันธ์หน่อละ 30 บาท สนับสนุนให้ปลูกทดแทนสับปะรดพันธ์ปัตตาเวียสำหรับส่งโรงงานแปรรูป ทำให้เกษตรกรบางราย ต้องนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นสับปะรดกวน
ขณะเดียวกันมีพ่อค้าคนกลางได้ติดต่อขอซื้อผลผลิตในราคากิโลกรัม ( กก.) ละ 5 บาท จากราคาที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 15 บาท แต่ยืนยันว่าราคาขายไม่คุ้มค่ากับราคาหน่อพันธ์ที่ทางราชการจัดซื้อและต้นทุนการผลิต ขณะที่มีพันธ์สับปะรดรับประทานผลสดชนิดเดียวกันที่ อ.สามร้อยยอด เจ้าของไร่ จำหน่ายหน่อพันธ์ต้นละไม่เกิน 20 บาท ทำให้ชาวไร่ข้องใจว่าเหตุใดทางราชการต้องจัดซื้อหน่อพันธ์มาจากภาคเอกชนที่ จ..ระยอง ที่มีราคาสูงกว่าและก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ของรัฐรบางรายได้แจ้งว่าไม่ให้นำราคามาเปิดเผย
ขณะที่นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร(กสก) ชี้แจงว่า หลังจากมีการ ร้องเรียนปัญหาสับปะรดพันธุ์ เอ็มดีทู ไม่สามารถจำหน่ายได้นั้น พบว่าที่ผ่านมา จ.ประจวบคีรีขันธ์ได้ใช้งบพัฒนาจังหวัดสนับสนุนหน่อพันธุ์ 90,000 หน่อ ให้กับเกษตรกรใน 8 อำเภอ ทดลองปลูกเป็นแปลงทดสอบ เพื่อศึกษาแนวทางการขยายการผลิต โดยปัจจุบันเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และผลผลิตที่ได้มาตรฐานกลุ่มเกษตรที่นำไปปลูกทดสอบสามารถจำหน่ายให้ห้างเทสโก้ โลตัส ราคาผลละ 25 บาท แต่ เนื่องจากพันธุ์ดังกล่าว เป็นพันธุ์ใหม่ เกษตรกรยังไม่คุ้นเคยกับวิธีดูแลรักษา จึงทำให้ผลผลิตที่ผ่านเกณฑ์มีน้อย ผลผลิตที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้นำมาจำหน่ายให้กับส่วนราชการในจังหวัด และส่งเสริมให้แปรรูปเป็นน้ำสับปะรด
นายสมชาย ระบุว่า สำหรับเกษตรกรรายที่เป็นปัญหา เป็นสมาชิกแปลงใหญ่ที่ปลูกพันธุ์ปัตตาเวีย ขณะเดียวกันได้ปลูกพันธุ์เอ็มดี 2 จำนวน 8000 ต้น ซึ่งจะต้องทำเป็นแปลงทดสอบ แต่เกษตรกรได้บังคับการออกดอกในสภาพต้นไม่สมบูรณ์เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน จากนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดฯได้ให้คำแนะนำ เพื่อนำผลผลิตมาจำหน่ายให้ในราคาผลละ 15 บาท สำหรับ สับปะรดพันธุ์ดังกล่าวเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาเผยแพร่โดยเอกชน ขณะนี้อยู่ในขั้นการทำแปลงทดสอบของทางราชการ และไม่ใช่พันธุ์ส่งเสริม