ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการททท.มอบนโยบายการจัดทำแผนปฏิบัติการปี 2561 ด้วยการขอให้ขยายสัดส่วนตลาดเดินทางมาเยือนไทยครั้งแรก (First Visit) เพิ่มขึ้นนั้น วางแผนจับตลาดนั้นด้วยการทำตลาดในหัวเมืองของแต่ละภูมิภาค รวมถึงแผนเชิงรุกไปยังประเทศที่ยังไม่มีสำนักงาน ททท.ตั้งอยู่ เพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการรับรู้และเดินทางมาประเทศไทยจากนักท่องเที่ยวเมืองหลัก ทำได้ดีอยู่แล้ว
ดังนั้น จึงเสนอให้มีการตั้งตัวแทนการตลาด (Marketing Representative) ใน 9 พื้นที่หลัก แบ่งเป็น ตลาดจีนเพิ่มตัวแทนอีก 5 เมือง จากเดิมที่มีสำนักงานอยู่แล้ว 5 แห่ง โดยเลือกจุดหมายที่มีเศรษฐกิจดี มีการเติบโตของนักท่องเที่ยวสูง เช่น เซียะเหมิน, ฉงชิ่ง ส่วนอินเดีย ที่มีสำนักงานอยู่แล้ว 2 แห่ง พิจารณาเพิ่มตัวแทนการตลาดในเมืองที่มีเที่ยวบิน และความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น กัลกัตตา หรือเมืองอื่นๆ ทางตอนใต้ เพื่อเจาะลึกกำลังซื้อศักยภาพสูง
ส่วนในอาเซียน จะเพิ่มตัวแทนการตลาดในประเทศที่ยังไม่มีสำนักงาน ททท.เลย ได้แก่ ลาว, กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกระจายความเสี่ยงตลาดจีน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยว 10 ประเทศอาเซียนรวมกัน จะมีส่วนแบ่งราว 25% เท่ากัน ขณะที่การตั้งตัวแทนการตลาดนั้น ทำให้เจาะลึกกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น แต่ไม่ใช้งบประมาณสูงเท่ากับการเปิดสำนักงาน
ทั้งนี้ ตลาดเอเชียยังเป็นเป้าหมายหลักในการทำตลาดปี 2561 เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวซึ่งฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเดินทางเกิน 1 ล้านคนต่อปี ได้แก่ จีน, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินเดีย และลาว และยังมีประเทศที่กำลังไต่อันดับมีนักท่องเที่ยวสูงเกิน 1 ล้านคนต่อปีภายในปี 2560 หรือ 2561 ได้แก่ สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งทั้งสองแห่ง ททท.มีสำนักงานทำการตลาดอยู่แล้ว
ด้านน.ส.สรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดญี่ปุ่นมี 2 สำนักงานได้แก่ โตเกียว และโอซาก้า ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยสำนักงานโอซาก้า เตรียมเปิดตลาดเดินทางครั้งแรก เจาะพื้นที่ทางตอนใต้ อาทิ โอกินาว่า, ฟุกุโอกะ, ฮิโรชิม่า แต่ที่ผ่านมา อุปสรรคในการทำตลาดนี้คือ ช่วงพีกของการเดินทางระหว่างคนไทยและญี่ปุ่นมักจะตรงกัน นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นจึงไม่สามารถหาที่นั่งเครื่องบินเพียงพอกับความต้องการดังนั้นจึงปรับกลยุทธ์ด้วยการขยายความร่วมมือกับสายการบินไชน่า แอร์ไลนส์ และเวียดนาม แอร์ไลนส์ ซึ่งมีเที่ยวบินเชื่อมต่อระหว่างไทยและเมืองทางตอนใต้ โดยมีจุดแวะพำนัก 1 ครั้ง เพื่อส่งเสริมตลาด เช่น เส้นทางฮิโรชิม่า-กรุงเทพฯ มีจุดแวะพักที่ไทเป เป็นต้น
ที่มา ข่าวสดออนไลน์