ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการวิชาการสำนักงานศาลยุติธรรมมีการประชุมเกี่ยวกับข้อสังเกตการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวดังนี้ 1.พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับวันที่ 23 มิถุนายน 2560 โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551
2.ความผิดเดิมตาม พ.ร.บ.มาตรา 9, 51 ฐานเป็นคนต่างด้าว ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตรงกับ พ.ร.ก.มาตรา 8, 101, ความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรา 27, 54 ฐานห้ามรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่กำหนด ตรงกับ พ.ร.ก.มาตรา 9, 102, ความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรา 9, 52 ฐานเป็นคนต่างด้าว ทำงานโดยไม่ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียน ตรงกับ พ.ร.ก.มาตรา 59, 119 และความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน ตรงกับ พ.ร.ก.มาตรา 72, 122
3.การที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 ข้อ 1 ให้มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ของ พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยข้อ 6 ให้คำสั่ง คสช. นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ตรงกับวันที่ พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับนั้น ส่งผลให้เฉพาะมาตรา 101, 102, 119 และ 122 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงเกิดปัญหาทางปฏิบัติว่า การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 และความผิดที่เกิดขึ้นหลัง พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2560 จะมีผลทางกฎหมายอย่างไรนั้น
คณะกรรมการวิชาการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ประชุมปรึกษาหารือแล้ว เสียงข้างมากมีความเห็นว่า การที่คำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 บัญญัติให้มาตรา 101, 102, 119 และ 122 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปนั้น มีผลว่าการกระทำความผิดที่กระทำลงในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จึงไม่เป็นความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
ส่วนการกระทำความผิดที่เกิดก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.ก.มาตรา 3 แม้ พ.ร.ก.จะยังกำหนดให้เป็นความผิด แต่ไม่มีโทษ จึงต้องถือว่า พ.ร.ก. เป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ดังนั้น ผู้กระทำความผิดก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดไป ไม่ว่าศาลจะพิพากษาคดีนี้เมื่อใดก็ตาม และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าได้รับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงด้วย
ส่วนแนวทางปฏิบัติตามความเห็นดังกล่าวมีข้อพิจารณาดังนี้ 1.ความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560-31 ธันวาคม 2560 (1) กรณีที่มีการยื่นคำร้องขอหมายจับในความผิดข้อหาดังกล่าว เนื่องจากการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด จึงไม่มีเหตุออกหมายจับ (2) กรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา จึงไม่อาจพิจารณาให้ฝากขังต่อไปได้ ส่วนผู้ต้องหาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังไปก่อนแล้ว จึงต้องพิจารณาออกหมายปล่อยผู้ต้องหา หรือมีคำสั่งว่าการปล่อยชั่วคราวสิ้นสุดลง แล้วแต่กรณี โดยถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ เพราะเหตุมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำความผิด ยกเลิกความผิด
(3) กรณีที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ย่อมถือเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 หากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และ (4) คำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 มีผลเป็นการยกเลิกความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เฉพาะมาตรา 101, 102, 119 และ 122 เท่านั้น ข้อหาความผิดอื่นตาม พ.ร.ก.นี้ หรือตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นต้น ไม่ได้รับผลกระทบตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าว เเละความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ย่อมต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560-31 ธันวาคม 2560 ดังกล่าวข้างต้น และ 3.ความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ถือว่ามีความผิดและต้องรับโทษตาม พ.ร.ก.