กรมชลฯ เตือนรับมือฝนตกหนัก ดันน้ำในลุ่มเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ต้องเร่งระบายออกออก

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักกระจายบริเวณ จ.กำแพงเพชร นครสวรรค์ และพิจิตร ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง รวมกันไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่พื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีฝนตกกระจาย ทำให้ปริมาณน้ำในระบบชลประทานและพื้นที่การเกษตรของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกมีปริมาณมากต้องเร่งระบายออก ทำให้สามารถแบ่งระบายจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทั้งทั้งสองฝั่งได้เพียงเล็กน้อย

ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 14-17 ก.ค. 2560 จะมีฝนตกหนักกระจายเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ณ วันที่ 13 ก.ค. เวลา 06.00 น. ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ระดับ +16.75 ม.รทก. ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 849 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,000-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน

โดยบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.20 เมตร ส่วนระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30-0.80 เมตร และบริเวณพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา เขตอ.ไชโย อ.เมือง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีบางส่วน

เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น กรมชลประทาน ทำการควบคุมปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำดังกล่าว กรชลประทาน ทำหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ พร้อมกับขอความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆ ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิเช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพ ร้านอาหาร เป็นต้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีฝนตกหนักเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป