ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายเจอโรม เฮอวิโอ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัททำข้อมูลวิจัย กล่าวถึงผลสำรวจการติดตามผู้บริโภคสินค้าหรูของไทย : ความเข้าใจผู้บริโภคสินค้าหรูออนไลน์ ว่า จากการสำรวจคนไทยที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือน 50,000-200,000 บาท 800 คน เมื่อช่วงก่อนเดือนตุลาคม 2559 เปรียบเทีนบกับประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน ฮ่องกง บราซิล พบว่า เวลาคนไทยซื้อสินค้าหรู (ลักชัวรี่) อิงแบรนด์ ชื่นชอบสินค้าลักชัวรี่สูงพอสมควรเทียบกับประเทศอื่นๆ และส่วนใหญ่ซื้อผ่านหน้าร้านของแบรนด์นั้นๆ รองลงมาคือหน้าร้านที่รวมหลายแบรนด์ ยังซื้อสินค้าลักชัวรี่ผ่านออนไลน์ไม่มากนัก แต่ที่ซื้อผ่านออนไลน์ เพราะต้องการความสะดวกสบาย และไม่ต้องการเจอหน้าพนักงานที่จะมาสอบถาม ส่วนใหญ่จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการหาข้อมูล เช่น เช็คราคา ดูรีวิว เป็นต้น สำหรับสินค้าลักชัวรี่ที่คนไทยซื้อมากที่สุด คือ เสื้อผ้า นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า
นายเจอโรม กล่าวว่า สำหรับแบรนด์ลักชัวรี่ที่อยู่ในใจของคนไทยอันดับแรกๆ คือ หลุยส์ วิตตอง ชาแนล กุชชี่ และคนไทยมองแบรนด์ลาครอส เป็นลักชัวรี่ด้วยทั้งที่ความจริงไม่ใช่ ขณะที่แบรนด์ลักชัวรี่ของไทย คนตอบแบบสอบถามใช้เวลาคิด นึกไม่ค่อยออก สะท้อนคนไทยมีความรู้เรื่องลักชัวรี่แบรนด์ของไทยค่อนข้างน้อย สำหรับปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดลักชัวรี่ในประเทศ คือ ความไม่นอนของเศรษฐกิจโลก ตลาดสินค้าลักชัวรี่ของโลกที่ปีนี้คาดเติบโต 2-4% การเข้ามานักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย รวมถึงความคาดหวังของผู้บริโภครุ่นใหม่ คนเจนเนอเรชั่นมิลเลนเนียม ซึ่งเป็นคนจับจ่ายสินค้ากลุ่มนี้โดยตรง และปัจจัยเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น
นางสาวฐิติพร สงวนปิยะพันธ์ ผู้อำนวยการ ลักเซลเลนซ์ เซ็นเตอร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า แม้กลุ่มสินค้าลักชัวรี่ไม่ได้รับผลกระทบนักจากสภาวะเศรษฐกิจ แต่การใช้จ่ายของคนไทยต่อสินค้ากลุ่มนี้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาถึงขณะนี้ ระมัดระวังใช้จ่ายมากขึ้น ชะลอจับจ่าย เพราะไม่มั่นใจต่อรายได้ที่จะเข้ามาและสถานการณ์ในอนาคต ทำให้การซื้อขายสินค้ากลุ่มนี้เติบโตไม่สูงมากนัก แต่ยังเติบโตอยู่ อาจจะไม่เห็นภาพการขยายหน้าร้านของสินค้าลักชัวรี่เพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการเพิ่มยอดขายต่อร้านทดแทน ด้วยกลยุทธ์มอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้า ดึงให้จับจ่าย แต่ไม่ค่อยลดราคา