รู้จัก…ระวังไว้ ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ ‘ไร้สายพันธุ์ใหม่’

รู้จัก…ระวังไว้ ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ ‘ไร้สายพันธุ์ใหม่’

จากกรณีการเสียชีวิตของคนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยวัดบางนาใน หลังถูกสุนัขกัดและเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขในเวลาต่อมา และถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นเชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่นั้น ทำให้ โรคพิษสุนัขบ้า

กลับมาเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจอีกหน

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Rabies, Hydrophobia คือไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของสมองในมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น

ในอาการแรกเริ่มนั้น หลังจากเชื้อฟักตัวผู้ที่ติดเชื้อจะเป็นไข้และเกิดอาการเหน็บชา รวมถึงเคลื่อนไหวรุนแรง ควบคุมความตื่นเต้นไม่ได้ กลัวน้ำและลม ก่อนจะเสียชีวิตในที่สุด

โรคนี้แพร่ได้ด้วยการที่ถูกกัดที่ติดเชื้อแล้วกัดหรือข่วน รวมถึงสามารถส่งผ่านโรคได้หากน้ำลายจากสัตว์ดังกล่าวสัมผัสตา ปากหรือจมูก

กรณีการเสียชีวิตของคนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างหลังถูกระบุว่าเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้านั้น ทำให้เกิดการตื่นกลัวว่าอาจเป็นพิษสุนัขบ้าที่กลายพันธุ์หรือเป็นสายพันธุ์ใหม่

ซึ่ง ศ.นสพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้าว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานเรื่องสายพันธุ์ใหม่

โดยหลังจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายนั้นจะมีการฟักตัว ซึ่งใช้ระยะเวลาแตกต่างกันออกไปตามร่างกายของแต่ละคน แต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะปรากฏอาการกลัวลม กลัวน้ำ และเสียชีวิตในที่สุด

“ถ้าถูกกัด ตรงบริเวณที่ถูกกัดก็เป็นแผล โดยมีอาการคันหรือเจ็บ แต่ยังไม่แสดงอาการ เพราะเชื้อจะวิ่งไปตามเส้นประสาท วิ่งไปเรื่อยในร่างกาย จนเข้าถึงสมองในระยะเวลา 2-3 เดือนหรือแล้วแต่คนแต่เมื่อไหร่ที่มาถึงตรงนี้ ก็แสดงอาการกลัวน้ำแล้ว และไม่เกิน 7 วันก็เสียชีวิต”

โดยหากเชื้อฟักตัวเต็มที่แล้ว การจะรักษาก็นับว่าไม่ทันท่วงที เว้นเสียแต่ว่าเมื่อถูกกัดแล้วไปพบแพทย์เพื่อรักษา แพทย์ก็จะฉีดวัคซีนให้

ซึ่งนับว่าเป็นการรักษาที่ทันท่วงทีเพื่อระงับไม่ให้เชื้อโรคฟักตัว แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อฟักตัว ก็จะมีอาการกลัวน้ำและหวาดผวา เช่น ตกใจง่ายเมื่อลมพัดมา ตื่นกลัว รวมถึงมีอาการเซื่องซึมและดุร้ายแล้วแต่คน มีไข้

“หลักการของไวรัสชนิดนี้คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดสามารถเป็นโรคนี้ได้หมด รวมถึงวัวควาย”

ศ.นสพ.ดร.อภินันท์กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีแนวคิดอยากให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งต้องอาศัยหลักการ 3 ประการ ได้แก่ 1.การให้ความรู้แก่ประชาชน 2.ฉีดวัคซีน และ 3.ทำให้สุนัขนั้นมีเจ้าของ

“ปัญหาคือคนไทยนั้นใจดี ชอบให้อาหารสุนัขข้างทาง แต่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของสุนัขอย่างแท้จริง เมื่อจะจับสุนัขฉีดยาก็จับไม่ได้เพราะสุนัขไม่ยอมให้จับ ทำให้การควบคุมและป้องกันโรคนั้นทำได้ยาก”

ทางแก้ไขที่เห็นชัดที่สุดนั้น คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการให้อาหารสุนัขข้างทางนั้นไม่ใช่วิธีดูแลที่ดีที่สุดแต่การทำให้สุนัขนั้นมีเจ้าของและอยู่ในที่ที่เหมาะสมอย่างเช่น Shelter (ที่พักพิงสัตว์เลี้ยง) จะดีกว่า

“หากสุนัขได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสม มีอาหารให้ และสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ น่าจะดีกว่าปล่อยให้เป็นโรคจนเสียชีวิตข้างทาง” ก่อนจะขยายความถึงวิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ให้มีอยู่ในประเทศไทยว่า โดยหลักการแล้วต้องฉีดวัคซีนให้สุนัข และขึ้นทะเบียนสุนัขให้เป็นการเรียบร้อย

สุนัขทุกตัวต้องมีเจ้าของเพื่อที่เจ้าของจะได้นำสุนัขที่ตนดูแลนั้นไปฉีดวัคซีนได้ ไม่ควรทิ้งไว้ข้างถนน ซึ่งอาจนำไปเข้าศูนย์พักพิงสุนัขเพื่อให้มีคนเลี้ยงและมีอาหารให้กินมีน้ำให้ดื่มอย่างถูกต้อง

“และอยากย้ำว่า เราต้องให้ความรู้กับประชาชน วิธีการคือ ผมคิดว่าน่าจะบรรจุเรื่องนี้ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้เด็กๆ

เข้าใจว่าการเลี้ยงสุนัขข้างถนน ให้อาหารสุนัขข้างถนนเหล่านั้นมันไม่ได้เป็นวิธีการที่ถูกวิธีในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า

“การใจบุญนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ในกรณีนี้จะทำให้โรคแพร่กระจายออกไปเพราะควบคุมไม่ได้ ทั้งนี้ก็เข้าใจและรู้ว่าสงสารสุนัขเหล่านั้น คิดว่าร่วมกันเป็นหูเป็นตาให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดีกว่า เพื่อให้หน่วยงาน

เหล่านั้นนำสุนัขข้างทางเหล่านี้ไปศูนย์พักพิง แล้วถ้าประชาชนอยากช่วยเหลือดูแลสุนัขก็ไปช่วยที่ศูนย์พักพิงก็ได้ นี่เป็นหลักการสำคัญ แต่ก็ต้องใช้เวลา” ศ.นสพ.ดร.อภินันท์กล่าวปิดท้าย