ก.แรงงานประกาศเปิด ‘ศูนย์เฉพาะกิจแรงงานต่างด้าว’ 24 ก.ค.-7 ส.ค. แจงรายละเอียดค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม  ที่กระทรวงแรงงาน นายอนันตชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงข่าว “แนวปฏิบัติการขออนุญาตและการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงาน”  ว่า ขณะนี้กระทรวงได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว ทำให้แนวทางการทำงานจากนี้มีความชัดเจนขึ้น ดังนี้ 1. เปิดศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มีนายจ้างอยู่แล้วแต่ไม่มีเอกสารอะไรเลย เปิดจังหวัดละ 1 แห่ง กทม. 10 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม -7 สิงหาคม  เวลา 08.30-16.30 น.ไม่มีวันหยุด ส่วนสถานที่จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ส่วนขั้นตอนนั้นให้นายจ้าง หรือมอบฉันทะให้คนอื่นมายื่นเรื่องโดยไม่ต้องพาแรงงานต่างด้าวมาด้วย ใช้เอกสารสำเนาบัตรประชาชนนายจ้างที่แท้จริง สำเนาเอกสารบัตรประชาชนของผู้รับมอบฉันทะ เอกสารมอบฉันทะ หากนายจ้างเป็นนิติบุคคลก็นำสำเนาเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคลมาด้วย พร้อมรูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวกของลูกจ้างต่างด้าวขนาด 1 นิ้วครึ่ง -2 นิ้ว จำนวน 2 รูปมาด้วย หากลูกจ้างมีเอกสารยืนยันตัวบุคคลอะไรอยู่ก็ให้เอามา  แม้จะเป็นพาสปอร์ตหมดอายุก็ตาม

นายอนันตชัย กล่าวต่อว่า เมื่อปิดศูนย์หลังวันที่ 7 สิงหาคมแล้วเจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของการแจ้งทำงาน เคสที่ไม่มีปัญหาก็สามารถออกใบนัดให้นายจ้างมารับโควตาหรือใบรับรองการจ้างคนต่างด้าวได้เลย โดยขั้นตอนนี้นายจ้างที่แท้จริงต้องมาเอง พร้อมกับพาลูกจ้างมาด้วย ส่วนรายที่มีข้อสงสัยก็จะเชิญมาสอบถามเพิ่มเติมคุยก่อน ทั้งนี้เมื่อได้รับเอกสารแล้วให้พาแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติ เมื่อได้รับใบรับรองแล้วก็พาไปขอวีซาทำงาน และตรวจสุขภาพเพื่อทำบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว และขออนุญาตทำงานโดยมีค่าใช้จ่ายสำหรับใบคำร้อง 100 บาท ค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาต 900 บาท ทั้งนี้ แรงงานสัญชาติเมียนมาจะสะดวกกว่าสัญชาติอื่นเพราะทางการให้ความร่วมมือดีมีการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยตอนนี้ 6 ศูนย์ทำให้แรงงานไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ส่วนลาว และกัมพูชาแรงงานต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติที่ประเทศต้นทาง แต่ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำลังหารือร่วมกับทางการลาวเพื่อขอให้อำนวยความสะดวกในการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติในเมืองไทย

นายอนันตชัย กล่าวต่อว่า  2.กลุ่มที่มีเอกสารแต่เปลี่ยนนายจ้าง หรือเปลี่ยนพื้นที่ทำงาน สามารถแจ้งเปลี่ยนนายจ้าง หรือสถานที่ให้ตรงตามที่ทำงานจริงได้ที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่ทำงาน โดยมีค่าใบคำร้อง 100 บาท ค่าธรรมเนียม 900 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน   3. แรงงานที่ถือบัตรสีชมพู ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วแต่ขออนุญาตทำงานไม่ทันภายใน 15 วันนั้น ขอให้ดำเนินการได้ที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่ทำงาน มีค่าใบคำร้อง 100 บาท ค่าธรรมเนียม 900 บาท  4. กลุ่มที่มีพาสปอร์ต แต่ถือวีซ่าประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่วีซ่าทำงาน หรือนายจ้างที่มีลูกจ้างถือใบอนุญาตที่ใกล้หมดอายุ ก็ไปขออนุญาตทำงานได้เลยที่สำนักงานฯ มีค่าใบคำขอ 100 บาท ค่าธรรมเนียม 900 บาท ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ให้เร่งดำเนินการทันทีแม้ไม่มีเดทไลน์แต่อย่าชะล่าใจ ส่วนนายจ้างที่ต้องการแรงงานต่างด้าวรายใหม่เลยนั้นให้ดำเนินการในระบบเอ็มโอยู ตามช่องทางปกติ  อีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าน่าจะมีปัญหาคือกลุ่มที่มีเอกสารรับรองตัวบุคคล แต่ไม่มีวีซ่าทำงานให้มาขอโควตาได้ที่ศูนย์เฉพาะกิจฯ ที่จะตั้งขึ้น แล้วพาไปเปลี่ยนวีซ่าให้ถูกต้อง

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  ยืนยันว่ารัฐบาล กระทรวงแรงงานไม่ได้มีเจตนาไม่อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว แต่ขอให้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตอนนี้เมื่อมีการผ่อนผันให้คนที่ทำผิดกฎหมายอยู่มีโอกาสทำให้ถูกกฎหมายก็ขอให้รีบมาดำเนินการ อย่าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีก” นายอนันตชัย กล่าว และว่า ขั้นตอนการแจ้งความประสงค์ขอใช้แรงงานต่างด้าวนั้นฟรี หากเจอเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงานเรียกรับผลประโยชน์ให้แจ้งมายังผู้บริหารกระทรวงได้ทุกคน หรือโทรมาที่ 1694 ซึงจะมีการตรวจสอบและลงโทษขั้นเด็ดขาดคือให้ออกจากงาน ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ท่านนายกรัฐมนตรี และคำสั่งคสช.ก็ระบุไว้ชัดเจนครอบคลุมถึงหน่วยงานอื่นๆ ไม่ให้เรียกรับผลประโยชน์เหมือนกัน และขอยืนยันด้วยว่าค่าธรรมเนียมการขออนุญาตทำงานที่บอกว่า 20,000 บาทนั้นเป็นข้อกำหนดอัตราสูงสุดตามกฎหมายเท่านั้น แต่เรามีกฎกระทรวงที่กำหนดไว้คือค่าใบคำร้อง 100 บาท บวกค่าธรรมเนียม 900 บาทซึ่งยึดตามอันนี้

รศ.แล  ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมาตรการปลดล็อก 180 วัน ของกระทรวงแรงงานในการอำนวยความสะดวกในการแจ้งและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ภายหลังมีพ.ร.ก.ฯ ว่า  การอำนวยความสะดวกต่างๆ จะดีหรือไม่ โดยหลักการแล้วหากอำนวยความสะดวกได้จริงจะทำให้แรงงานที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดินได้มากขึ้น เพราะหากการขึ้นทะเบียนสะดวก ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ใครๆก็อยากจะขึ้นมาอย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ส่วนการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจในการรับแจ้งพิสูจน์ความเป็นตัวตนของแรงงานต่างด้าวนั้น จริงๆมีการเสนอตั้งเป็น ศูนย์การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ( OneStop Service)  แต่กระทรวงฯก็ไม่ได้ทำสักที ดังนั้น หากศูนย์เฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น ทำได้ดีมีประสิทธิภาพก็ควรตั้งเป็นศูนย์ถาวรจะดีกว่า เนื่องจากวันนี้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องไม่ใช่แค่ช่วงเวลา 6 เดือนเท่านั้น แต่พวกเขาต้องอยู่กับคนไทยอีกนาน เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศยังต้องพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์

“ตัวเลข 180 วันหรือ 6 เดือนถือเป็นบทพิสูจน์ที่น่าสนใจ เพราะการบริหารจัดการคนเป็นล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำได้มากน้อยแค่ไหน  ซึ่งการกำหนดช่วงเวลาจะเป็นเงื่อนไขที่ดีในการปฏิรูประบบไปด้วย นอกจากนี้ ที่ยังไม่ชัดเจนคือค่าใช้จ่ายทั้งกระบวนการแจ้งและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย สรุปแล้วค่าใช้จ่ายเท่าไร  อยากให้มีการประกาศจุดนี้ให้ชัดเจนว่า แต่ละกระบวนการเท่าไรอย่างไร เพราะที่ผ่านมาได้ยินข่าวว่ามีตั้งแต่ 1,500 บาท และรวมๆไม่เกิน 2 หมื่นบาท” รศ.แล กล่าว