ฟังชัดๆ ประมงปัตตานีเผย ‘หอยตีเบง’ กินได้ แต่ควรเลี่ยงจับช่วงหน้าฝนหรือใกล้แหล่งใช้ยาฆ่าแมลง

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม จากกรณีพบมีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษรุนแรง และจากการซักประวัติผู้ป่วยกว่า 10 ราย ให้การตรงกันว่ากินหอยมีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “หอยตีเบง” ถูกนำตัวส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น ติดเขต จ.นราธิวาส

ล่าสุด นายสุนิตติ์ โรจน์พิทยากูล ประมงจังหวัดปัตตานี ได้ติดตามข้อมูลและจัดส่งเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นคาดเป็นหอยที่รับสารพิษจากยาฆ่าแมลงและยาปราบศัตรูพืช โดยหอยดังกล่าวจากการตรวจสอบในสารบบกลับไม่มีระบุชื่อประวัติ หรือเป็นหอยชนิดใดตามหลักวิชาการ แต่เรียกกันเพียงภาษามลายูท้องถิ่นว่า “หอยตีเบง” และคนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็นำมาประกอบอาหารมานานแล้ว และไม่เคยมีการแจ้งสิ่งผิดปกติ หรือมีแต่ก็ไม่มีการแจ้งสาเหตุเพราะอาจไม่ทราบผลข้างเคียงมาจากการกินหอยชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยรุ่นก่อนๆ หน้านี้ โดยฝากแจ้งเตือนสำหรับผู้ที่จะนำหอยชนิดนี้มาประกอบอาหารควรมีการทำความสะอาดผ่านชะล้างและขังกรองพิษที่ตกค้างอยู่ในหอยออกก่อนจะเกิดอันตราย

นายสุนิตติ์ โรจน์พิทยากูล ประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เป็นไปได้มากว่าสาเหตุจากการใช้สารเคมีฆ่าแมลง หรือปราบศัตรูพืช เมื่อยามฝนตกก็จะชะล้างหน้าดินลงสู่แม่น้ำหรือสู่ทะเล และหอยชนิดนี้หาอาหารด้วยการกรองเอาน้ำผ่านตัวจึงกรองเอาสารพิษตกค้างไว้ในตัวของหอยด้วย และเมื่อชาวบ้านเก็บมากินในช่วงเกิดฝนตกใหม่ๆ จึงทำให้ชาวบ้านได้รับพิษที่ตกค้างในตัวหอยไปด้วย โดยวิธีป้องกันคือควรเก็บหอยมาขังในน้ำนาน 2-3 วันก่อน เพื่อให้หอยดูดซึมน้ำและคลายเอาสารพิษออกจากตัวหอยให้น้อยลงมากที่สุด จึงจะนำไปปรุงอาหารได้