ธุรกิจส่งออกไม้ยางอบแห้งเฟื่อง จีนอ้าแขนรับไม่อั้น

คุณภรภัทร โรจนมงคล ทายาทรุ่นที่ 2 ของบริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด บริษัทแปรรูปไม้ยางพาราส่งออก ตั้งอยู่เลขที่ 91/2 หมู่ 2 ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราอบแห้ง เป็นธุรกิจที่รับซื้อไม้ยางพาราที่ครบอายุการกรีดน้ำยางจากเกษตรกร แล้วนำมาแปรรูปเป็นไม้ยางพาราอบแห้ง ก่อนจำหน่ายในประเทศ 5 เปอร์เซ็นต์ อีก 95 เปอร์เซ็นต์ส่งจำหน่ายยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่รับซื้อไม้ยางพาราอบแห้ง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือ เครื่องเรือนตกแต่งที่อยู่อาศัย โดยบริษัทก่อตั้งมานานกว่า 16 ปีแล้ว

คุณภรภัทร กล่าวอีกว่า ธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราอบแห้งส่งตลาดประเทศจีน มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนมีการเติบโตในทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีวัฒนธรรมใหม่เป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น มีการก่อสร้างคอนโดและที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมาก ทำให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ตกแต่งภายในบ้านค่อนข้างสูง ซึ่งประเทศจีนมองว่าประเทศไทยมีวัตถุดิบคือไม้ยางพาราอบแห้งป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของประเทศจีนได้ตลอด ส่วนไม้ชนิดอื่น แม้จะมีคุณภาพมากกว่า แต่หากปริมาณการป้อนเข้าตลาดในประเทศจีนไม่ต่อเนื่อง ก็จะเกิดความเสี่ยงต่อธุรกิจได้

“อดีตที่ผ่านมา โรงงานรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่อำเภอเมืองตรังก็เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่ปัจจุบัน วัตถุดิบจากในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง หรือแม้แต่ทั้งจังหวัดตรังก็ไม่เพียงพอแล้ว ต้องรับซื้อจากทุกจังหวัดของภาคใต้ ซึ่งปัจจัยหลักที่ไม้ยางพาราไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่า”

ในแต่ละวัน ความสามารถในการแปรรูปไม้ยางพาราอบแห้งของบริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด สามารถรับไม้ยางพารามาแปรรูปเป็นไม้ยางพาราอบแห้งได้มากถึง 500-700 ตันต่อวัน ส่วนที่เหลือจากการแปรรูป เช่น ปีกไม้ จะมีบริษัทรับซื้อไปใช้ผลิตพลังงานให้กับโรงไฟฟ้า หรือ โรงงานผลิตไม้อัดแผ่นอีกทอด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาในระบบการผลิต ยกเว้นในช่วงฤดูฝน ที่การผลิตอาจล่าช้าบ้าง เนื่องจากติดปัญหาในการขนย้ายจากแปลงของเกษตรกรออกมายังโรงงาน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการแปรรูปไม้ยางพาราอบแห้งจะมีปริมาณมากเท่าใด ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดผู้บริโภคในประเทศจีน

บริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ มีพื้นที่การใช้งานทั้งสิ้น 46 ไร่ มีแรงงานผลิต 300 คน

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์