กฎหมายคุมต่างด้าวป่วนทั่วประเทศ ธุรกิจระส่ำลามเมกะโปรเจ็กต์

ธุรกิจป่วน พ.ร.ก.ฉบับใหม่คุมเข้มจ้างแรงงานต่างด้าวพ่นพิษ นายจ้าง-บริษัทจัดหางานทำผิดเจอโทษหนัก จำคุก-ปรับสูงสุด 1 ล้านบาท ภาคเอกชน 3 เสาหลัก “สภาหอการค้าฯ-สภาอุตฯ-ส.ธนาคาร” ยื่นหนังสือร้องนายกฯตู่ ช่วยสมาคมรับเหมาฯชี้กระทบก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ ชาวสวนยางโอดเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด

พระราชกำหนดการบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับผู้ประกอบธุรกิจหลากหลายสาขา เพราะแม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดึงแรงงานต่างด้าวเข้าระบบ แต่การกำหนดบทบัญญัติกฎหมายในลักษณะที่เข้มงวด บวกกับกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการเอกชนโดยเฉพาะนายจ้าง กับบริษัทจัดหางานที่นำเข้าแรงงานต่างด้าวรุนแรง โทษปรับสูงถึง 400,000-1,000,000 บาท จึงหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องว่าจ้างแรงงานต่างด้าว เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานไทย

หอการค้าฯกระทบเรียกถกด่วน

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจเปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”Žว่าผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งภาคการเกษตร ส่วนใหญ่จ้างแรงงานเมียนมากรีดยาง

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเรียกประชุมภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายและจะรวบรวมประเด็นปัญหาเสนอแนะให้รัฐบาลนำไปพิจารณา

รับเหมาชี้เมกะโปรเจ็กต์ป่วนหนัก

นายสังวรณ์ลิปตพัลลภนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เปิดดเผยว่าพ.ร.ก.ฉบับใหม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับเหมาแน่นอน เพราะปัจจุบันรับเหมาทั้งรายใหญ่และเล็กใช้แรงงานก่อสร้างต่างด้าวจำนวนมาก

”ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวในระบบมีทั้งที่ขอนำเข้ามาแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายส่วนใหญ่ผู้รับเหมาที่ซับงานต่อจากรายใหญ่จะมีปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวเช่นการลาออก หรือเปลี่ยนงานกะทันหัน เพราะเกิดการซื้อตัวขึ้นŽ”

รัฐออกกฎหมายมาแบบนี้ ภาคก่อสร้างค่อนข้างเดือดร้อน เพราะแรงงานขาดแคลน จะกระทบงานก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันอยู่ขณะนี้ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ งานถนน ผู้รับเหมาหาแรงงานก่อสร้างมาทดแทนต่างด้าวไม่ทัน นอกจากนี้ยังกระทบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เพราะต้องจ่ายค่าแรงและค่าปรับในอัตราที่สูงขึ้น วันที่ 6 ก.ค.นี้ สมาคมจึงได้เรียกประชุมด่วนสมาชิก 500 ราย ถึงมาตรการที่เสนอให้รัฐบาลผ่อนปรน เพราะผลกระทบเริ่มเกิดขึ้นแล้ว

ส.บ้านจัดสรรเห็นด้วย

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า แรงงานก่อสร้างที่เป็นคนต่างด้าวคาดว่ามีประมาณ 1 ล้านคน การออกกฎหมายใหม่โดยยุบรวมกฎหมายเดิม 2 ฉบับเข้าด้วยกัน ทางผู้ประกอบการรับทราบมาตลอด และเห็นด้วย เพราะเป็นการจัดระเบียบกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ใหญ่ ต้องการบริหารจัดการด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ

มีข้อเสนอแนะ 2 ข้อ 1.เนื่องจากมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 23 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการซึ่งเป็นนายจ้างรู้ตัวว่าจะมีกฎหมายใหม่ แต่ฝั่งลูกจ้างหรือแรงงานต่างด้าวยังไม่ค่อยรู้ ภาครัฐควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพราะบทบัญญัติลงโทษและปรับรุนแรงและเข้มงวดมาก

2.ในภาพรวมผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทในวงการมั่นใจว่าทำถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังมีแรงงานแอบแฝงที่ไม่ถูกต้องหลงเหลืออยู่ควรจัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีกครั้ง

อสังหาฯบี้ผู้รับเหมาช่วง

สำหรับผลกระทบนั้นนายอิสระประเมินว่าช่วงรอยต่อของการบังคับใช้กฎหมายใหม่น่าจะมีความโกลาหลอยู่บ้างในฐานะกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทกานดา พร็อพเพอร์ตี้ ยอมรับว่าปัจจุบันใช้แรงงานก่อสร้างเป็นต่างด้าวมากกว่า 90% โดยมีอยู่ 900 กว่าคน ครึ่งหนึ่งบริษัททำเอ็มโอยูจ้างงานจึงทำถูกกฎหมาย เป็นห่วงอีกครึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้รับเหมาช่วง เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก อาจมีปัญหาในการจ้างแรงงานต่างด้าวอยู่บ้าง

“ถ้ามีตกหล่นยังไม่เข้าระบบก็ต้องปรับตัว เพราะบทลงโทษและบทปรับรุนแรง เข้มงวดมากขึ้น ไม่คุ้มค่าที่จะลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมายŽ”

ชี้จุดเสี่ยง “เรียกรับสินบนŽ”

แหล่งข่าวจากการพัฒนาที่ดินหลายรายกล่าวในทำนองเดียวกันว่า มีข้อเป็นห่วงเรื่องอัตราโทษที่ปรับขึ้นสูงกว่าเดิมมาก อาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐบางรายฉวยโอกาสบีบเรียกเงินใต้โต๊ะ หรือเงินนอกระบบหนักข้อมากขึ้น

ศาลปกครองไม่ชะลอ กม.

สำหรับชาวสวนยางซึ่งได้รับผลกระทบด้วยนั้น ล่าสุด นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย เปิดเผยว่า เมื่อ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมาคมพร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย 9 องค์กร ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อศาลปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้มีคำสั่งชะลอการบังคับใช้กฎหมายแรงงานฉบับนี้ และขอให้พิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองจนกว่าผู้ประกอบการจะหาแรงงานใหม่ทดแทนได้ เนื่องจากกระทบต่อชาวสวนยางอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่จะใช้แรงงานต่างด้าวในกระบวนการผลิตยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน

ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบขยายเวลาในการคุ้มครอง โดยยืดระยะเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวออกไป ให้เกษตรกรได้เตรียมตัวก่อน รวมทั้งมีการคุ้มครองการบังคับจับกุมในระยะนี้ไปก่อน ล่าสุดศาลปกครองนครศรีธรรมราชไม่รับพิจารณาคดีดังกล่าว โดยชี้ว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาล

“ที่ย่ำแย่ไปกว่านี้ก็คือ เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ มีหน่วยงานต่าง ๆ มากมายไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ ติดต่อมายังเกษตรกรที่กำลังทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนแรงงาน อ้างว่าหากจ่ายเงินก็จะไม่จับกุม เกษตรกรหลายกลุ่มเจอทั้งขู่ ทั้งกรรโชกŽ”

สภาอุตฯเหนือโอดบทลงโทษแรง

นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ เปิดเผยว่า บทลงโทษรุนแรงเกินไป ซึ่งแรงงานต่างด้าวยังจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงแนวทางแก้ไข โดยอาจเสนอให้แก้ไขสัญญาการจ้างแรงงานของกรมการจัดหางาน เพราะการแก้ไขกฎหมายคงไม่สามารถทำได้

หนุนภาพลักษณ์ท่องเที่ยว

ขณะที่นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ระเบียบใหม่นี้เป็นผลดีต่อภาคธุรกิจโรงแรมและบริการด้านท่องเที่ยวในภาพใหญ่ ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ในด้านความเชื่อมั่นภาคท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ

ส่วนปริมาณการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจโรงแรมนั้นน่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่5%แต่โรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตถูกต้องและโรงแรมขนาดเล็กในต่างจังหวัด อาจมีใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งกลุ่มนี้คงได้รับผลกระทบ ประกอบกับแรงงานภาคธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ต้องผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่

ปรับ-จำคุกหนักสุด 1 ล้าน

ด้านความเคลื่อนไหวของภาครัฐ นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา กรมการจัดหางานเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯต่อเนื่อง มั่นใจว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่รับทราบและเข้าใจรายละเอียดของข้อกฎหมาย สำหรับเสียงสะท้อนที่ออกมาในทำนองบทลงโทษค่อนข้างหนักและรุนแรงนั้น เป็นเพราะรัฐต้องการป้องปรามไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาโทษปรับสูงสุดแค่ 20,000 บาทเท่านั้น ผู้ฝ่าฝืนจึงไม่เกรงกลัว มีการลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายจำนวนมาก

ขณะเดียวกับเหตุผลอีกส่วนหนึ่งมาจากต้องปรับปรุงกฎหมายและบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเทียบเคียงได้กับกฎหมายใหม่หลายฉบับที่เพิ่งบังคับใช้เช่นกฎหมายการประมงโทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ปรับสูงสุด 4 แสนบาท กฎหมายป้องกันการใช้แรงงานเด็ก ปรับสูงสุด 4 แสนบาท เป็นต้น ขณะที่กฎหมายฉบับนี้โทษปรับสูงสุดที่ 1 ล้านบาท หรือจำคุก 3-10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัดดิ้นปลดล็อก IUU-Tier

ส่วนที่มีการมองว่าภาครัฐผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการปลดล็อกกรณีสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลือง กล่าวหาว่าไทยทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมทั้งแก้ปัญหากรณีสหรัฐขึ้นบัญชี Tier 3 มีปัญหาค้ามนุษย์ ค้าแรงงานเด็ก แรงงานทาสนั้น จริง ๆ แล้วเป็นแค่ผลพลอยได้ แต่เหตุผลหลักคือการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

3 เสาหลักภาคเอกชนร้องบิ๊กตู่

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เตรียมส่งข้อมูลหารือกับกระทรวงแรงงาน และยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งกฎหมายใหม่อาจทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนจะทำหนังสือในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยื่นไปยัง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 28 มิ.ย.