เบิร์น-เอาต์ ซินโดรม อาการหมดไฟทำงาน

เพราะการทำงานสมัยนี้แข่งขันกันด้วยสมอง ที่ต้องคิด ต้องสร้างสรรค์ ต้องลงมือทำ หากทำได้สม่ำเสมอ ไม่หมดไฟไปเสียก่อน ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นเคล็ดลับดีๆ ในการเพิ่มไฟในการทำงานจากเจเนอราลี่ ไทยแลนด์ โดย พญ.มณฑินี แสงเทียน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

พญ.มณฑินีกล่าวว่า อาการเบิร์นเอาต์ ซินโดรม (Burn-Out Syndrome) หรืออาการหมดไฟ มักพบเมื่อสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (work-life balance) เสียไป เกิดความเหนื่อยหน่ายทางอารมณ์ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน อ่อนเพลีย เสียสมาธิ ความสัมพันธ์กับผู้อื่นมีปัญหา รู้สึกว่ามีความสุขน้อยลง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคทางจิตใจและร่างกายอื่นๆ อีกด้วย

การป้องกันภาวะเบิร์น เอาต์ สามารถทำได้ด้วยการเริ่มที่ตนเอง ร่วมกับการสนับสนุนจากหัวหน้าและที่ทำงาน ในปัจจุบันมีองค์กรขนาดใหญ่มากมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะเป็นผลดีกับพนักงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาพยาบาลขององค์กรอีกด้วย เทคนิคง่ายๆ ที่เริ่มได้จากตัวเอง

-ดูแลร่างกายและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนอน อาหาร การควบคุมน้ำหนัก และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้น

-จัดระเบียบให้ชีวิต ทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว การจัดแบ่งและจัดตารางเวลาช่วยให้ชีวิตยุ่งยากน้อยลง นอกจากจะแบ่งเวลาให้ครอบครัวหรือเพื่อนแล้ว ต้องจัดเวลาให้ตัวเองอีกด้วย

-การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง การเปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกาย หรือมีกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน ยังช่วยคลายความเครียดจากการทำงานได้อีกด้วย

-กิจกรรมอื่นๆ เช่น การทำงานการกุศล การปฏิบัติธรรม หรืองานอดิเรกต่างๆ ที่ชอบ ช่วยให้เกิดสมดุลระหว่างกายและใจ

โดยสรุปคือ “กายกับใจ สมองกับร่างกาย งานและชีวิตส่วนตัวต้องมีความสมดุล” จึงจะช่วยให้คนวัยทำงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีร่างกายและจิตใจแข็งแรง ช่วยให้ประสบความสำเร็จทั้งหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว และมีความสุขอย่างยั่งยืน