ชงครม เคาะรถไฟจีนเดือน ก.ค. ใช้บริษัทรับเหมาไทย-จีนได้งานออกแบบ

จับตาค่าออกแบบ คุมงาน จัดหาระบบและขบวนรถไฮสปีด กทม.-โคราช มูลค่ากว่า 4.3 หมื่นล้าน หลัง คสช.งัด ม.44 เปิดทางสะดวกจีน ชง ครม.ทุบโต๊ะ ก.ค.นี้ คมนาคมแจงยกเว้นแค่ระเบียบปฏิบัติ ส่วนงานก่อสร้าง 1.35 แสนล้าน ยังอยู่ภายใต้กฎหมายและใช้ผู้รับเหมาไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 20 มิ.ย. 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯชั่วคราว 2557 เร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253.5 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท เพื่อความสะดวกในการจัดซื้อจัดจ้าง จึงขอใช้มาตรา 44 และประสานสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกในการจัดฝึกอบรมให้วิศวกรจากจีนเข้าใจสภาพภูมิศาสตร์ของไทย เพราะกายภาพของจีนไม่เหมือนไทยเช่น จีนอาจจะเกิดแผ่นดินไหว แต่ไทยไม่ค่อยเกิด หรือเทคนิคกำลังลมของแต่ละประเทศ ไทยมีพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ จึงจำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสม โดยให้วิศวกรไทยและจีนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งสภาวิศวกรและสถาปนิกเห็นด้วยแล้ว

“คาดว่าจะเสนอโครงการต่อ ครม. มิ.ย. และจะลงนามจ้างที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งไทยกำหนดกรอบวงเงินที่ 1,824 ล้านบาท ภายใน ก.ค. และเริ่มสร้าง ส.ค.-ก.ย.นี้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รถไฟไทย-จีนเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน (จีทูจี) ต้องพึ่งพาวิศวกรและสถาปนิกจีนช่วยออกแบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เพราะเป็นระบบรถไฟความเร็วสูงที่ไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์ออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างมาก่อน

“คำสั่งม.44ยกเว้นมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 พ.ร.บ.วิศวกร 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 อำนวยความสะดวกด้านระเบียบปฏิบัติให้บุคลากรจีนออกแบบรายละเอียด ควบคุมงานก่อสร้างและจัดหาระบบรถไฟความเร็วสูงได้ ไม่ต้องมีใบอนุญาต เพื่อให้เดินหน้าได้เร็ว แต่ต้องผ่านการฝึกอบรมและทดสอบจากสภาวิศวกรและสถาปนิก เพราะหากการออกใบอนุญาตจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนงานก่อสร้างโยธายังอยู่ภายใต้กฎหมายไทยทุกอย่าง”

ทั้งนี้ ผลการประชุมร่วมกันมา 18 ครั้งได้ข้อสรุปกรอบวงเงินลงทุนโครงการ 179,421 ล้านบาท แยกเป็น ค่างานโยธาและระบบรถไฟ 162,646 ล้านบาท ค่าขบวนรถ 4,480 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 3,430 ล้านบาท ค่าอื่น ๆ เช่น ค่าออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้างและฝึกอบรม 8,856 ล้านบาท หากรวมค่าศึกษาความเหมาะสม 448 ล้านบาท มูลค่าโครงการจะอยู่ที่ 179,869 ล้านบาท ซึ่งก่อนจัดซื้อจ้ดจ้างต้องตรวจสอบอีกครั้ง

งานแบ่ง 2 สัญญา คือ 1.งานโยธา วงเงินกว่า 135,000 ล้านบาท หรือ 70% ของมูลค่าโครงการ ฝ่ายไทยจะเปิดประมูล 4 ช่วง ใช้ผู้รับเหมาไทยเป็นหลัก ประกอบด้วย 1.สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. 2.ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. 3.แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 110 กม. และ 4.กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 129 กม.

และ 2.งานออกแบบ ควบคุมงาน และระบบรถไฟ วงเงินกว่า 43,000 ล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่าโครงการ ฝ่ายจีนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงเป็นเทคโนโลยีและผลิตโดยจีน บุคลากรที่ใช้ในสัญญาต้องเป็นจีน

เมื่อได้รับอนุมัติจะจ้างจีน 3 สัญญา ได้แก่ ออกแบบรายละเอียด คุมงานก่อสร้าง และงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งจีนจะส่งแบบเฟสแรกสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ให้ก่อน ค่าก่อสร้าง 200 ล้านบาท

เพื่อเปิดประมูล ส.ค.และเริ่มสร้าง ก.ย.นี้ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์เริ่มต้นโครงการ ส่วนแบบที่เหลือจีนจะส่งใน 6 เดือนนับจากเซ็นสัญญา

ทั้งนี้ โครงการจะสร้างได้ต่อเมื่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับอนุมัติทั้งโครงการ ซึ่งช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชีผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว รอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ส่วนช่วงภาชี-นครราชสีมา อยู่ระหว่างปรับแก้รายงานครั้งที่ 6

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพยายามเคลียร์เรื่องปมกฎหมาย เพื่อให้มีการเร่งทำสัญญา และเริ่มก่อสร้างโครงการบางส่วน เชิงสัญลักษณ์ 3.5 กิโลเมตร เพื่อความเป็นรูปธรรมของโครงการ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้นำไปหารือกับผู้นำประเทศจีน ในการประชุมกลุ่มบริกส์ (BRICS) ที่จะจัดประชุมที่ประเทศจีนเดือนกันยายนนี้

อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เจรจาการเพิ่มแผนการลงทุนในโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น นอกเหนือจากสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ให้มีการเพิ่มเส้นทางอยุธยา-ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ยิ่งทำให้ฝ่ายจีนต้องเร่งรัดฝ่ายไทย ดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน ให้เดินหน้าเป็นรูปธรรม

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์